ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กก.ประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐยัน ข้อเสนอสภาประกันสุขภาพยึดหลักกลมกลืน ไม่ลิดรอนสิทธิอื่น ออกสิทธิประโยชน์กลางเท่านั้น ไม่ใช่การรวมกองทุน และไม่มีการโอนงบมาให้คกก.สภาประกันสุขภาพบริหาร งบกองทุนไหนก็ยังอยู่กองทุนนั้น ส่วนร่างกฎหมายที่เผยแพร่ก็ไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ แม้แต่ชื่อยังไม่ลงตัว ด้าน นพ.ไพบูลย์ ชี้หากต้องสร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ กลไกกลางในการทำงานช่วยได้ แต่ต้องถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ทั้งในทางวิชาการและกลุ่มผลประโยชน์ และสร้างกระบวนการมีส่วนรวม เชื่อมีโอกาสสำเร็จในรัฐบาลยุคนี้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) สัดส่วนประชาชน ในฐานะหนึ่งกรรมการประสานงานสามกองทุนสุขภาพภาครัฐที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และผลักดันการจัดตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บางกลุ่มมองว่าจะเป็นการรวมสามกองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการโดยมีการนำงบไปบริหารนั้น ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะหลักการของกฎหมายนี้ คือการสร้างความกลมกลืนของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่มีใครเห็นด้วยในการรวมสามกองทุน หรือการนำงบมาหน่วยงานกลางเป็นผู้บริหาร โดยร่างกฎหมายที่มีการเผยแพร่นั้น ไม่ใช่ร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์ เพราะชื่อก็ยังไม่ลงตัวเลยด้วยซ้ำ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า หลักการของกฎหมายที่คณะทำงานฯ หารือกันคือ จะสร้างกลไกในกระบวนการเจรจาต่อรองเรื่องสิทธิประโยชน์กลางขึ้นมา โดยกระบวนการต่อรองจะมีสัดส่วนจากแต่ละกองทุนมาหารือว่า เห็นด้วยกับสิทธิประโยชน์กลางหรือไม่ ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่นอกเหนือและเป็นการเฉพาะของแต่ละกองทุน ยังคงเหมือนเดิม โดยกระบวนการหารือจะมาจากผู้แทนต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกมี 3 คน เป็นผู้แทนของแต่ละกองทุน ทั้งหลักประกันสุขภาพฯ ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ กลุ่มที่สอง เป็นผู้แทนภาคประชาชน 3 คน แบ่งเป็น ผู้แทนข้าราชการ 1 คน ผู้แทนผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม 1 คน และประชาชนผู้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1 คน และกลุ่มที่สาม เป็นผู้แทนผู้ให้บริการจำนวน 3 คน แบ่งเป็น ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 1 คน ผู้แทนนอกสังกัดกระทรวงฯ 1 คน และผู้แทนภาคเอกชน 1 คน  

"โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งทั้งหมดจะพิจารณาหาสิทธิประโยชน์พื้นฐานให้ประชาชนแต่ละสิทธิ โดยยึดหลักต้องกลมกลืน ไม่กระทบสิทธิอื่น ที่สำคัญการจะออกสิทธิประโยชน์ใดๆ จะต้องเป็นมีมติเอกฉันท์ โดยหากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในนี้หากมีความคิดเห็นต่าง เพียงกลุ่มเดียว มติก็จะออกไม่ได้เลย ดังนั้น จึงไม่อยากให้กังวลว่ากฎหมายนี้จะไปลิดรอนสิทธิใด และไม่มีการโอนงบมาให้คณะกรรมการนี้บริหารแน่นอน งบฯ ใครก็ยังอยู่ในกองทุนนั้นๆ บริหารตามเดิม" นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ที่สำคัญร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าวยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งจะต้องมีการระดมความคิดเห็นอีก โดยยังอยู่ในกระบวนการตามขั้นตอน 

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยด้านระบบสุขภาพ กล่าวว่า โดยหลักหากต้องการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ การมีกลไกกลางในการทำงาน ย่อมช่วยได้ ส่วนกลไกกลางจะใช้ชื่ออะไร คงเป็นอีกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญการสร้างกลไกกลางต้องมีการถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ทั้งในทางวิชาการ และกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้าไปทำงาน โดยต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าแนวโน้มความสำเร็จในรัฐบาลยุคนี้มีโอกาส ส่วนที่กังวลว่าจะนำไปสู่การรวมสามกองทุนสุขภาพในอนาคตนั้น ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริงด้วย