ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ถึงแนวคิดในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190  เกี่ยวกับการจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ(Earmarked Tax) ให้กลับเข้าสู่กระบวนการงบประมาณปกติ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรงบฯให้กับ 3 องค์กรใหญ่ อย่างองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมไปถึงกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ที่จะเริ่มขับเคลื่อนในปีนี้

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้สัมภาษณ์ นายเทพชัย หย่อง ในรายการ "ชั่วโมงที่ 26" ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW 26 ถึงผลดี-ผลเสียของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นายกฤษดา กล่าวถึงพื้นฐานความเป็น สสส.ว่า เป็นองค์กรที่มีภารกิจส่งเสริมสุขภาพ มีความแตกต่างจากหน่วยราชการอื่นๆ ตรงที่มีความยืดหยุ่นสูงในการบริหารตัดสินใจ โดยเฉพาะมีงบประมาณเป็นของตัวเอง

แต่ส่วนที่น่าเป็นห่วงก็คืองบประมาณกว่า 4,500 ล้านบาท ที่ใส่เข้าไปในกองทุน สสส. เป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้นักการเมือง หันมาสนใจและต้องการนำเงินก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์ในโครงการต่างๆ เช่น  สร้างสนามฟุตบอล

นอกจากนี้ส่วนที่เรียกเก็บจากบริษัทสุรา ยาสูบ ก็เป็นเงินกำไรเพียงเล็กน้อยขององค์กรเหล่านี้ ที่ได้สร้างภาระให้กับสังคม แต่ สสส.นำเงินส่วนนี้มาช่วยลดทอนภาระสังคมให้ลดลง

อย่างจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากเมาสุรา ที่มีปีละ 500 คน หรือจำนวนคนที่สูบบุหรี่ในประเทศติดอันดับโลกที่ทำให้จำนวนคนไทยป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการสูบบุหรี่ติดอันดับโลกเช่นกัน สสส.ก็มีภารกิจเพื่อลดจำนวนคนเหล่านี้ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ หรือค่านิยมใหม่เพื่อไม่ให้คนรุ่นใหม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมอมเมา เพราะฉะนั้น 4,500 ล้านบาทของ สสส.จึงคุ้มค่าแน่นอน

ขณะเดียวกันนอกจากกองทุนทั้งสองนี้ก็ยังมีกองทุนการกีฬาฯ ที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อมีการตัดเงินส่วนนี้ไป โดยที่รัฐยังได้เงินเท่าเดิม 100% เต็ม แต่เมื่อ สสส. ไทยพีบีเอส และการกีฬาฯ ต้องการเงินก็ต้องไปขอจากงบประมาณ เท่ากับไปขอแบ่งเงินจากก้อน 100%  ก็เท่ากับไปแย่งเงินก้อนเดียวกันนี้เอง

นายกฤษดา อธิบายด้วยว่า  Earmarked Tax คือรูปแบบการเก็บภาษีของประเทศ เมื่อต้องการนำเงินมาใช้ในภารกิจพิเศษ ที่ไม่สามารถดึงเงินจากงบประมาณปกติมาใช้ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องมีกองทุนพิเศษ

พร้อมกันนี้ได้ย้อนเล่าถึงการตั้งกองทุน สสส.ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีความคิดอยากให้ความสำคัญแก่สุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ จึงมีการเสนอความเห็นถึงวิธีการนำเงินมาใช้โดยศึกษาจากประสบการณ์ต่างประเทศและพบว่า การเก็บเงิน  Earmarked Tax นี้ มีความเหมาะสมที่สุด ดังนั้นการตัดเงินส่วนนี้ทิ้งจึงเป็นเรื่องแปลก

นอกจากนี้โครงสร้างคณะกรรมการพิจารณากองทุนที่มีการพูดถึง แม้จะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขจากฟากฝั่งการเมืองและข้าราชการประจำ อีก 9 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คนและกรรมการอิสระ อีก 7 คนที่สามารถแสดงความเห็นเพื่อคานอำนาจกันได้

ในอดีต แม้ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 การถูกถอดออกจากการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ หลังวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิเคราะห์การเมืองกระทบนักการเมือง ก็ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

"ทราบมาว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบางท่าน ออกมาระบุชัดเจนว่ารับทราบข้อเท็จจริงแล้ว และบอกว่าจะรักษาเงินก้อนนี้ให้กับประชาชน ซึ่งเราจะต้องติดตามกันต่อไป" นายกฤษดาสรุป     

ด้าน นายณรงค์ ชี้ว่ากระบวนการนี้เริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์ สร้างวาทะกรรมเชิงลบให้กับหน่วยงานทั้งสอง อย่างไทยพีบีเอส ที่ถูกระบุว่ารายได้กว่า 2,000 ล้านบาท สมควรให้พึ่งพาตัวเองได้แล้ว โดยชี้นำว่าเงินภาษีที่จัดเก็บจากองค์กรสุรา น้ำเมา 100 % เต็มนั้น ต้องหักให้ไทยพีบีเอส 1.50% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ทำให้รัฐได้เงินภาษีเข้าคลังเท่ากับ 98.5%

ทั้งที่ความเป็นจริง ภาษีที่เก็บได้  100% นั้น เงินส่วนหนึ่งจำนวนเพียง 1.50% ที่ส่งเข้ากองทุน ไม่ได้หักจากก้อน 100%  แต่เป็นส่วนที่เรียกเก็บจากองค์กรสุรา น้ำเมา และยาสูบ ต่างหาก ไม่ได้เป็นการรบกวนเงินงบประมาณรัฐ

ขณะที่หากจะให้ผ่านระบบงบประมาณปกติ ในภาวะการเมืองปัจจุบัน โดยส่วนตัวไม่ติดใจอะไร แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีการระบุว่าสรรพสามิตจะส่งรายได้ทั้งหมดให้รัฐ โดยรัฐจะส่งให้เป็นรายเดือน แต่รวมกันไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หรือแล้วแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะกำหนด ตรงนี้ที่น่าเวียนหัวมากที่สุด

"ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สอนให้เรารู้ว่า เมื่ออ้อยเข้าปากช้างแล้ว ช้างที่ไหนจะคายออกมา และมีใครจะรับประกันได้ว่า จะไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงการพิจารณางบประมาณ"

ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส บอกด้วยว่าข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องได้รับและเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อทั้งสังคม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านรัฐ หรือพรรคฝ่ายตรงข้าม ทุกคนควรได้รับรู้ เข้าใจข้อมูลข่าวสารอย่างถ่องแท้ ไม่ถูกชี้นำจากกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ และนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นไทยพีบีเอสก็ไม่ใช่สื่อสาธารณะอีกต่อไป

"ผมยอมรับว่า การนำเสนอบางครั้งบกพร่องไปบ้าง แต่เราก็พยายามเสนอข้อมูลให้เกิดดุลยภาพ ถ้ายังต้องการพื้นที่สาธารณะ การพูดกระทบกระทั่งกันต้องมีบ้าง และถ้ากลุ่มเดิมที่เคยถูกกระทบได้ทำสิ่งดีๆ เราก็นำเสนอตลอด"

นายณรงค์ พูดพลางยกมือขึ้นพนมว่า ขณะนี้ทราบว่าทั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางท่าน เข้าใจแล้วว่า การเก็บเงินส่งเข้ากองทุนให้องค์กรต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นภาระกับงบประมาณรัฐ จึงได้ดึงกลับไปทบทวน ผมขอขอบพระคุณ ไว้ ณ โอกาสนี้

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 สิงหาคม 2558