ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ย้ำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ฉบับของกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สปช. ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอและคนไข้ คุ้มครองทั้งแพทย์ และผู้ป่วย เผยความคืบหน้า มี 3 ร่าง ทั้งของ สบส., คปก., และกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สปช.ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไป

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.มีอยู่ 3 ร่าง คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ซึ่งยกร่างโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของร่างฯ ฉบับนี้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว รอเวลาที่รัฐมนตรี สธ. จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อลงมติรับหลักการ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน นายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง จากนั้นจึงเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้นำเสนอต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

3.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ฉบับของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งยกร่างโดยอนุกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้ทำให้เกิดการคุ้มครองทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ให้บริการอื่น และผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือผู้รับบริการซึ่งได้รับผลกระทบจากการให้และรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเกิดจากเหตุสุดวิสัยโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ทำให้ปัญหาการฟ้องร้องที่เป็นปัญหาสำคัญลดลง และให้ความคุ้มครองทุกคน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประชาชน และผู้ประกันตนในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบในปัจจุบัน ตลอดจนจะช่วยพัฒนาระบบคุณภาพบริการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นๆ ไป

ทั้งนี้ ประธาน กมธ. ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่สภาปฏิรูปฯ ไม่ได้มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ดังนั้นจะต้องนำเข้าสู่ ครม.เพื่อรับหลักการ และเข้าสู่ สนช.ต่อไป

นางปรียนันท์ ย้ำว่า ความเสียหายจากการรักษาที่ผ่านมา มีทั้งเสียชีวิตและพิการ โดยเฉพาะจากการคลอดนั้นมากที่สุด นอกนั้นก็เป็นแพ้ยา ติดเชื้อ รักษาไม่ทันท่วงที ฯลฯ อาจเกิดจากตัวบุคคลหรือระบบ ซึ่งไม่มีบุคลากรคนใดตั้งใจให้เกิดขึ้น แต่ความเสียหายนั้นหมายถึงชีวิตและร่างกายของมนุษย์ หนึ่งชีวิตกระทบต่ออีกหลายชีวิตเสมอ 

"ที่ผ่านมาคนไข้ 4 ประเภทคือบัตรทอง, ประกันสังคม, ข้าราชการ และสิทธิอื่นๆ รวมทั้งจ่ายเงินเอง เวลาเกิดความเสียหายจะมีเพียงคนไข้บัตรทองเท่านั้นที่มีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ที่จำนวนการเยียวยานั้นไม่เพียงพอต่อความเสียหายในระยะยาว และไม่ครอบคลุมคนไข้สิทธิอื่นๆ การหวังพึ่งพากลไกปกติก็พึ่งแทบไม่ได้ แพทยสภามีมติคดีไม่มีมูลแทบทุกคดี ใช้เวลาในการพิจารณาแต่ละกรณีนาน 3-10 ปี แม้ไม่มีคนไข้รายใดอยากฟ้องหมอ แต่ก็ไม่มีทางเลือก การฟ้องคดีต่อศาลนั้นใช้เวลานานนับ 10-20 ปี หลักฐานอยู่ในมือคู่กรณี พยานทางการแพทย์หายาก สายป่านในการต่อสู้คดีก็สั้นกว่า คนไข้จึงแพ้คดีเป็นส่วนใหญ่” นางปรียนันท์ กล่าว

ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวอีกว่า เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้คือเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ โดยมีหลักการสำคัญ คือ 1. มีกองทุนชดเชยความเสียหาย 2. มีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่พิจารณาการชดเชยที่รวดเร็วเป็นธรรม (ไม่เกิน 1 ปี) 3. มีการนำความผิดพลาดไปพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย ป้องกันเหตุการณ์ซ้ำ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุควบคู่กันไป

ทั้งนี้ ข้อดีของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ 1. จะช่วยลดจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาล 2. จะไม่มีการเสียเวลาร้องเรียนและต่อสู้คดีนานหลายปีอีกต่อไป 3. จะไม่มีการพบกับการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป 4.จะไม่มีการสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับค่าใช้จ่ายในการต่อสู้อีกต่อไป 5. จะมีการดูแลความเสียหายทางจิตใจ และการรักษาต่อเนื่องเร็วขึ้น 6. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้กับบุคลาการทางการแพทย์จะกลับคืนมา 7. มาตรฐานการรักษาและความปลอดภัยของคนไข้จะดีขึ้น