ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักระบาดวิทยาชี้ ระบบสอบสวนโรคของไทยยังขาดบุคลากร หวั่นเอาไม่อยู่หากเกิดการระบาดใหญ่ แนะเพิ่มซีและค่าตอบแทนเพื่อจูงใจเพิ่มคนทำงาน

พญ.พจมาน ศิริอารยาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มสอบสวนและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาของงานระบาดวิทยาและการสอบสวนโรคของเมืองไทยขณะนี้ คือแม้จะมีการวางระบบไว้ดีเยี่ยม มีอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ยังมีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอที่จะรองรับเหตุการณ์ขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างกรณีไวรัสเมอร์สที่พบผู้ติดเชื้อในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ดีที่มีเพียง 1 คน เพราะหากเป็นสเกลที่ใหญ่แบบประเทศเกาหลีใต้ก็อาจจะย่ำแย่ระเนระนาดได้เช่นกัน

"ตามโรงพยาบาลก็จะมีนักระบาดวิทยา 1-2 คน หรือทีมของส่วนกลางเองก็มี 2 ทีมต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นการระบาดใหญ่ๆ จะไม่พอ เพราะเวลาออกไปสอบสวนโรคก็อาจไป 2 ทีม รวมกันสำหรับผู้ป่วย 1 คนของเคสเมอร์ส หรือแม้แต่ผู้ป่วยสงสัยอีโบลา เนื่องจากทีมไม่ได้ไปแค่โรงพยาบาลที่เดียว แต่ต้องไปที่โรงแรมและสถานที่อื่นๆ ที่ผู้ป่วยมีการติดต่อกับคนอื่นๆ ดังนั้นถ้ามีเคสเมอร์สหลายๆ ราย ก็จะอยู่ในสภาพคนไม่พอในเวลาอันรวดเร็ว" พญ.พจมาน กล่าว

พญ.พจมาน กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ไทยยังขาดแคลนนักระบาดวิทยา ทั้งแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมทางด้านนี้ เนื่องจากภาระงานที่หนัก เสี่ยงต่อการติดโรคเมื่อลงพื้นที่ไปสอบสวน พักผ่อนน้อย รายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่นตนเองต้องนอนหลังเที่ยงคืนเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาลงพื้นที่สอบสวนโรคซึ่งทั้งทีมต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อเก็บข้อมูล และสรุปข้อมูลในแต่ละวัน รวมถึงวางแผนการทำงานของวันรุ่งขึ้น เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ของโรคที่กำลังแพร่ระบาดอยู่  ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้คือต้องเพิ่มบุคลากร ซึ่งจะเพิ่มได้ก็ต้องเพิ่มแรงจูงใจทั้งเรื่องค่าตอบแทน และในกลุ่มนักระบาดวิทยาที่ไม่ใช่สายแพทย์ ต้องเพิ่มซีให้ขึ้นซี 8 ได้ ไม่ใช่ตันแค่ซี 7 เพราะถ้าอยู่ซี 8 จะได้เงินประจำตำแหน่งด้วย

อนึ่ง ระบบของการเฝ้าระวังโรคนั้น โดยระบบพื้นฐานตามโรงพยาบาลต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ที่รายงานข้อมูลการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ส่งให้แก่กรมควบคุมโรคทุกสัปดาห์ และหากมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเกิดโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น ก็จะต้องส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ไปหาสาเหตุ โดยทีมจะมีตั้งแต่ระดับส่วนกลาง ระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ซึ่งลักษณะงานสอบสวนโรคนั้นก็เหมือนงานนักสืบ กล่าวคือต้องสอบถามข้อมูลจากบุคคล ต้องเก็บชิ้นส่วนหลักฐานและสาวไปให้ถึงต้นตอการระบาด

"ยกตัวอย่าง กรณีมีผู้ป่วยมาโรงพยาบาล 3 คน มีอาการทั้งอาเจียนและถ่ายท้อง เราจะเริ่มจากจุดนี้ก่อน ดูว่ากินอะไรมา ถ้าคนป่วยบอกว่ากินลาบหมูดิบ ก็ต้องดูว่าสาเหตุมาจากตรงนี้หรือเปล่า กินกี่คน ต้องสืบสวนเพื่อหาสเกลของโรค เพราะบางทีอาจมีคนอื่นในหมู่บ้านกินด้วยแต่ไม่มาโรงพยาบาล ถ้าข้อมูลตรงไปตรงมาก็สรุปได้ว่าเกิดการเจ็บป่วยจากการกินลาบ" พญ.พจมาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมีความซับซ้อน เช่น 2 คนกินลาบหมูแต่อีก 1 คนกินหมูย่าง ปัญหาก็อาจเกิดจากเนื้อหมู ซึ่งก็ต้องดูว่ามีวิธีการปรุงอาหารอย่างไร รวมทั้งเก็บตัวอย่างไปตรวจในแล็ป เช่น ตัวอย่างอาเจียน ตัวอย่างเชื้อบนเขียง ฯลฯ เป็นต้น

พญ.พจมาน กล่าวด้วยว่าความท้าทายในการทำงานนี้ คือทำอย่างไรให้คนที่ตอบคำถามให้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะบางคนกลัวว่าให้ข้อมูลแล้วจะถูกกักตัว หรือบอกข้อมูลไม่หมดเพื่อปกป้องชื่อเสียงตัวเอง เช่น หากเกิดกรณีเด็กนักเรียนท้องร่วงทั้งโรงเรียน ผู้เกี่ยวข้องก็อาจปกปิดข้อมูลหรือบอกไม่หมด อย่างไรก็ตาม แม้งานจะยากลำบาก แต่ก็รู้สึกดีที่เมื่อทำสำเร็จจะไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะคนๆ เดียว แต่ได้ช่วยคนอีกหลายคน เช่น หากโรงเรียนแห่งหนึ่งมีปัญหา โรงเรียนอื่นๆ ก็อาจจะเป็นแบบเดียวกัน การสอบสวนหาสาเหตุจึงช่วยป้องกันไม่ให้คนอีกหลายคนต้องเจ็บป่วยตามไปด้วย

ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/lakthai/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง