ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งจัดโครงการ “ส่งต่อความห่วงใยจากแม่สู่ลูก” ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแก่บุตรสาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฟรี จำนวน 184 ราย เผยตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย คิดเป็น 28.6 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีอายุน้อยสุด 20 ปี ชี้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงสูง แนะควรได้รับการค้นหาและตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมทั้งตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ระบุหากพบเร็วจะรักษาได้ผลดี

วันนี้ (25 สิงหาคม 2558) ที่กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ส่งต่อความห่วงใยจากแม่สู่ลูก”ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทย (Cancer in Thailand Vol.VIII, 2010 – 2012) พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย คิดเป็น 28.6 ต่อประชากรแสนคน และมีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงอายุที่พบสูงสุดจะอยู่ที่ 50-55 ปี แต่จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทยพบว่ามะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป และพบว่าช่วงอายุ 30-35 ปี มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มสตรีมีอายุน้อยลง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ มีบทบาทหน้าที่หลักในการส่งเสริมการกำหนดนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์ในระดับที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเหมาะสม เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำ “โครงการส่งต่อความห่วงใยจากแม่สู่ลูก” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมให้กับบุตรสาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม เช่น แม่ พี่ หรือน้อง เป็นต้น สตรีกลุ่มนี้จึงควรได้รับการค้นหาและตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมรวมทั้งให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนัก ตื่นตัว หันมาดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง อีกทั้งเพื่อให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่บุคคลรอบข้างได้ เนื่องจากแนวทางที่ดีที่สุดในการลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านม คือการค้นหาและการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการส่งต่อความห่วงใยจากแม่สู่ลูก เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และ สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแก่บุตรสาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 184 ราย ฟรี ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีแม่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร.0-2202-6800 ต่อ 2215 ,2205 ในวันและเวลาราชการ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัว หรือญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน มีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากพบความผิดปกติ เช่น พบก้อน เต้านมมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนไป หัวนมบุ๋ม มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม หรือผิวของเต้านมมีลักษณะผิวเปลือกส้ม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ สตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ด้วยแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม หากพบก้อนมะเร็งยิ่งเล็กยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาด ข้อควรปฏิบัติสำหรับการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม คือ ควรหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนในระยะยาว ควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี ไม่อ้วน มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ถูกต้อง ด้วยการลดอาหารไขมันสัตว์ ควรกินผัก-ผลไม้สดเป็นประจำ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อและไม่ดื่มสุรา หากปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้