ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์มติชน : ประชาคม สธ. หารือปัญหาระบบสาธารณสุขและแนวทางแก้ไขร่วมกับ นพ.ปิยะสกล เสนอ 3 ข้อหลัก เดินหน้าเขตสุขภาพอย่างจริงจัง ระยะสั้นให้ออกกฎกระทรวงรองรับสถานภาพ ปฏิรูประบบการเงินการคลัง และธรรมาภิบาลใน สธ. ด้าน นพ.ปิยะสกล แจงข้อเสนอเบื้องต้นเป็นไปตามนโยบายที่ประกาศอยู่แล้ว ทั้งเรื่องเขตสุขภาพที่ต้องบูรณาการระหว่าง สธ.และ สปสช. ส่วนเรื่องงบจะหารือกับ สปสช. พร้อมระบุอยากประชาคมประชุมร่วมกันแบบนี้อย่างน้อย 1-2 เดือนต่อครั้ง

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข ประชาคมสาธารณสุข นำโดย นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานประชาคมสาธารณสุข นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.)  ได้เข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะที่ปรึกษา เพื่อหารือถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในระบบสาธารณสุข

ทั้งนี้ นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ทางประชาคมสาธารณสุขมีข้อเสนอหลัก 3 เรื่องที่เป็นปัญหาและขอให้รัฐมนตรีว่าการสธ. พิจารณาดำเนินการดังนี้ 

1. ขอให้เดินหน้าพัฒนาเรื่องเขตบริการสุขภาพอย่างจริงจัง โดยระยะสั้นขอให้ออกกฎกระทรวงเพื่อรับรองสถานภาพของเขตสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการทั้งคน และงบประมาณ จากเดิมก็ทำกันอยู่แต่ไม่มีสถานภาพที่ชัดเจน

2. การปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยขอให้เร่งดำเนินการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี 2 เรื่องหลักสำคัญๆ คือ การจัดสรรงบประมาณร้อยละ 80 ของตัวเลขประมาณการให้กับสถานพยาบาลโดยไม่เรียกกลับคืน  ขณะนี้ในภาพรวมมีการจัดสรรได้ครบแล้ว แต่เมื่อแยกเป็นราย รพ.แล้วยังมีบางแห่งที่ได้ยังไม่ครบ และอีกเรื่องคือการยุบ 2 กองทุนโรคเฉพาะมาใช้ระบบงบรายหัว คือ กองทุนต้อกระจก และกองทุนโรคหอบหืด ปอดเรื้อรัง ซึ่งขณะนี้ สปสช.ยังไม่ได้ดำเนินการตามมติบอร์ด

“การมีกองทุนโรคเฉพาะจำนวนมากนั้นทำให้งบประมาณไปอยู่ตรงนั้นเยอะ กลายเป็นการเอาเงินเป็นตัวตั้งให้ทาง รพ.ต้องทำงานแลกเงิน ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เงิน ดังนั้นเราอยากให้ลดกองทุนลง แล้วเอาเคพีไอมาเป็นตัวกำหนดการทำงานของเราแทนดีกว่าหรือไม่ ข้อเสนอที่ 3 คือ เรื่องธรรมาภิบาลในกระทรวง” นพ.ธานินทร์ กล่าว  

นายสาคร นาต๊ะ ประธานชมรมหมออนามัย กล่าวว่า อยากให้ปรับเปลี่ยนระบบที่เอาเงินมานำการให้บริการจริงๆ เพราะทุกวันนี้ทำให้หมอนามัยต้องอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อทำรายงานส่งเพื่อแลกเงิน อีกทั้งยังมีการเปิดอบรมวิชาการต่างๆ จากหลายหน่วยงาน หลายภาระงานแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ทำให้เสียเวลาแทนที่จะเอาเวลาไปทำเปิดประชาคมหมู่บ้านให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนตรงนี้อยากให้มีการปรับแก้

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เบื้องต้นก็เป็นไปตามนโยบายที่ตนประกาศเอาไว้อยู่แล้ว อย่างเรื่องเขตสุขภาพที่ต้องมีการบูรณาการให้สามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งกระทรวง และ สปสช. ส่วนเรื่องมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้น เป็นเรื่องสำคัญซึ่งตนจะได้นำไปหารือร่วมกับ สปสช.อีกครั้งนอกรอบก่อนการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งแรก ถือว่าไปให้การบ้าน อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการประชุมร่วมกันเช่นนี้อย่างน้อย 1-2 เดือนครั้ง แต่ในระยะแรกๆ นั้นขอให้เป็นเดือนละครั้ง.

ที่มาข่าว : www.matichon.com

ที่มาภาพ : www.dailynews.com