ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจธุรกิจ : ร้านยาคึกคัก เชนสโตร์แห่ปูพรมสาขาชิงส่วนแบ่งตลาด 2.9 หมื่นล้าน ระบุตลาดแข่งแรง แนวโน้มแย่งตัวเภสัชกร ยักษ์ค้าปลีกมากันครบทั้ง "เทสโก้-บิ๊กซี" ชู จุดขายวันสต็อปเซอร์วิส "ซูรูฮะ" ตั้งเป้าเปิดอีก 100 สาขาใน 5 ปี เครือ ร.พ.ธนบุรีเดินหน้าขยายลงทุนร้านยาเอเพ็กซ์

ร้านขายยาซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 2.92 หมื่นล้านบาท จากจำนวนร้านขายยา มากกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ กำลังเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ สืบเนื่องจากค่ายค้าปลีกยักษ์รวมถึงเชนสโตร์ต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับตลาดนี้อย่างจริงจัง สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตกับสินค้ากลุ่มสุขภาพที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นสพ.ประชาชาติธุรกิจธุรกิจ : ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของธุรกิจร้านขายยาในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่ เป็นการขยายตัวของเชนสโตร์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ ซูรูฮะ ซูเปอร์ดรักสโตร์ ของบริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างสหพัฒน์และบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ตั้งเป้าเปิด 100 สาขาใน 5 ปี จากที่มี 24 สาขา และมีแผนจะขยายธุรกิจออกไปในหลายประเทศในอาเซียน บิ๊กซีที่มีร้านยาเพรียว 155 สาขา ยังคงเดินหน้าเปิดเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่นมีร้านยาเอ็กซ์ต้าพลัส มีนโยบายเปิดขายแฟรนไชส์มากขึ้น

ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพมีการเพิ่มสัดส่วนสินค้าเวชสำอางเข้ามาในร้านยาเซฟดรักมากขึ้น รวมถึงบริษัท ฟาร์แมกซ์ รีเทล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านยาฟาร์แมกซ์ ก็ประกาศจะเปิดสาขาเพิ่มอีกปีละ 3-5 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 7-8 สาขา

ทั้งนี้ สำนักยา กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2557 ที่ผ่านมา มีร้านยาแผนปัจจุบันเปิดดำเนินการ 15,359 ร้าน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 4,794 ร้าน ต่างจังหวัด 10,565 ร้าน เป็นร้านขายยาเชนสโตร์ประมาณ 1,400 ร้าน

นายปริญญา อัครจันทโชติ นายกสมาคมร้านขายยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันธุรกิจร้านขายยาขยายตัว ต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนร้านขายยาทั้งสิ้นประมาณ 1.9 หมื่นร้าน โดยการขับเคลื่อนหลักๆ มาจากเชนร้านขายยาที่มีการเปิดสาขาใหม่จำนวนมาก อาทิ บู๊ทส์ วัตสัน เอ็กซ์ตร้า ของเซเว่นฯ และยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ อย่างโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ซื้อกิจการร้านยาเซฟดรักมาบริหาร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร้านขายยามีกฎหมายควบคุมเรื่องใบอนุญาตและเภสัชกรประจำร้าน ประกอบกับปัจจุบันเภสัชกรหายาก ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจะขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการแย่งตัวบุคลากรและเภสัชกร นอกจากนี้ ที่สังเกตพบคือ ร้านยาตามชายแดนมีความคึกคักขึ้นตามการเติบโตของการค้าชายแดน

"แม้ว่าตลาดใหญ่ของยาจะยังอยู่ที่ช่องทางโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่ช่วงหลังๆ มานี้ บริษัทยาได้หันมาให้ความสำคัญกับช่องทาง ร้านขายยามากขึ้น และร้านขายยาที่เปิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเชนสโตร์ ส่วนร้านขายยาเดี่ยว มีแนวโน้มที่จะปิดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านขายยาเดี่ยวยังมีจำนวนมากกว่าร้านขายยาเครือข่าย หรือเชนสโตร์ โดยมีสัดส่วน 80 : 20"

นพ.บุญ วนาสิน ประธานบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ในฐานะประธานบริษัท ทันตสยาม จำกัด เจ้าของร้านขายยาเอเพ็กซ์ เฮลท์แคร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดร้านขายยาโดยรวมในเขตกรุงเทพฯ ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่การแข่งขันค่อนข้างสูง และร้านขายยามีจำนวนมาก ตามการขยายตัวของเชนสโตร์อย่าง บู๊ทส์, วัตสัน, เอ็กซ์ต้าพลัสของเซเว่นอีเลฟเว่น ทำให้ตลาดเริ่มโอเวอร์ซัพพลาย อย่างไรก็ตาม ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ยังมีโอกาสขยายตัว และร้านขายยาส่วนใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามมากขึ้น เพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค

"ร้านเชนสโตร์ที่มีสาขาจำนวนมากจะมีประโยชน์จากอีโคโนมีออฟสเกล ทำให้ ร้านขายยาเดี่ยวลำบาก เพราะต้นทุนสูงทำให้แข่งขันยาก และมีแนวโน้มปิดตัว เพราะไม่คุ้มค่าเช่าที่ ค่าแรง จากการสำรวจพบว่าความสำเร็จของร้านขายยาขึ้นอยู่กับเภสัชกรที่มีอัธยาศัยดี แนะนำดี ทำให้กลับมาซื้อซ้ำ"

สำหรับเอเพ็กซ์ เฮลท์แคร์ ภายในสิ้นปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในกรุงเทพฯ จากปัจจุบัน มี 10 สาขา และจากนี้ไปมีนโยบายจะหันมาลงทุนกับธุรกิจร้านขายยาอย่างจริงจัง ตั้งเป้าเปิดให้ได้ปีละ 2-3 สาขา งบฯ ลงทุน 2-3 ล้านบาทต่อสาขา เน้นทำเลใกล้โรงพยาบาล ย่านชุมชน และมีแผนจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการบรรษัท บริษัท เอก-ชัย ดิสตริบิวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายจะลงทุนเปิดร้านขายยา "เทสโก้ โลตัส ฟาร์มาซี" เพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นเปิดตามสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต จากปัจจุบันที่เปิดไปกว่า 50 สาขา นอกจากยาที่เป็นสินค้าหลักแล้ว ในร้านก็จะมีสินค้ากลุ่มเวชสำอาง และอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าครบวงจร และดึงดูดให้เข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าจำนวนเภสัชกรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และกฎหมายที่กำหนดให้มีเภสัชกรประจำร้านเป็นข้อจำกัดในการขยายสาขาใหม่ๆ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 - 30 ส.ค. 2558