ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เผยหัวน้ำนมในน้ำนมแม่เป็นยอดอาหาร มีสารอาหารมากกว่า 200ชนิด เด็กกินนมแม่ในช่วงเวลานี้เหมือนได้วัคซีนปกป้องสุขภาพ เสริมสร้างการพัฒนาเซลล์สมอง เส้นใยประสาทและจอประสาทตา สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคต่างๆ

วันนี้ (31 สิงหาคม 258) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างเดียว 6 เดือนเต็ม และหลังจากนั้นเลี้ยงควบคู่อาหารที่เหมาะสมตามวัยจนลูกอายุครบ 2 ปี เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ลูกได้สารอาหารครบถ้วนทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยการพัฒนาเซลล์สมอง เส้นใยประสาทและจอประสาทตา เด็กที่ได้กินนมแม่ มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ในสิ่งต่างๆ ได้เร็ว ส่งผลให้มีไอคิวดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ 2–11 จุด ร่างกายแข็งแรง ว่องไว อารมณ์ดี ลูกไม่ป่วยบ่อย นอกจากนี้นมแม่ในระยะสัปดาห์แรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วน และมีภูมิคุ้มกันสูงสุด เปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า วิธีการให้นมลูกที่ถูกต้องใช้หลัก 3 ด. คือ 1) ดูดเร็ว หมายถึง แม่ต้องให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมง หลังคลอดพร้อมโอบกอดเนื้อแนบเนื้อ 2) ดูดบ่อย หมายถึง ดูดทุก 2-3 ชั่วโมง ภายใน 2-3 วันแรก และ 3) ดูดถูกวิธี หมายถึง ท่าอุ้มและการอมหัวนมให้ลึกถึงลานหัวนม และดูดให้เกลี้ยงเต้า ตามหลักจิตวิทยาพบว่าในขณะที่แม่อุ้มลูกให้กินนมแม่วันละ 8-10 ครั้ง พร้อมพูดคุยขณะให้นมลูกนั้น ก่อให้เกิดสายใยรัก สายใยผูกพันระหว่างแม่กับลูก อ้อมกอดแม่มีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมองลูก ทำให้ใยสมองแตกแขนง กิ่งก้านมากขึ้น ลูกจะสัมผัสได้ถึงความรักของแม่ความอบอุ่น ปลอดภัย ไม่เครียด และมีความสุข แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้รับสัมผัสที่อบอุ่นเช่นนี้แล้ว จะทำให้พัฒนาการของสมองของเด็กสูญไปอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงดัดแปลงได้ปีละ 24,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 8 แสนราย หากไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะทำให้แม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงให้ลูกเฉลี่ยเดือนละ 3,500 ต่อคน หรือปีละ 70,000 บาทต่อคน

“สำหรับแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านและไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ การบีบเก็บน้ำนมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแม่ทำงานนอกบ้าน ส่วนการเก็บน้ำนม แม่ควรบีบทิ้งก่อน 3 ครั้ง แล้วจึงใช้ขวดรองเก็บ ซึ่งการเก็บน้ำนมลงในขวดควรเก็บเท่ากับปริมาณที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้ปิดฝาขวดให้มิดชิดทันที หากตั้งไว้โดยไม่ใส่ในตู้เย็นน้ำนมจะอยู่ได้ 6-8 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นให้เก็บในส่วนที่เย็นที่สุด คือชั้นที่อยู่ในช่องแช่แข็งด้านในสุด จะเก็บได้นาน 2 วัน หากเก็บในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นาน 3 เดือน แต่ห้ามเก็บไว้ตรงประตูตู้เย็นเพราะเป็นส่วนที่   เปิด-ปิด ทำให้ความเย็นไม่คงที่”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว