ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นอกจากทัศนะของคนไทยแล้ว น่าสนใจว่า ชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งสำคัญในองค์การระดับโลก ที่ได้ศึกษาระบบบัตรทองของไทย เขามีทัศนะเช่นไร

เริ่มจาก อมรรตยะ เสน ซึ่งกล่าวถึง “ความสำเร็จ” ของประเทศไทยไว้ค่อนข้างยาว ขอยกมาเต็มๆ ดังนี้

“ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน โดยที่ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เกิดจากพลังอำนาจทางการเมืองที่มีความมุ่งมั่นในการจัดบริการสุขภาพที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคนได้ในราคาที่ไม่แพง ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ประสบการณ์ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยถือเป็นแบบอย่าง ทั้งในแง่ของการขยายความครอบคลุมของบริการสุขภาพให้ทั่วถึง และลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้น และศาสนา ซึ่งก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2544 ความครอบคลุม ของประกันสุขภาพในประเทศ มีเพียงประมาณ หนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น กลุ่มคนที่ได้รับสิทธิพิเศษในความคุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มข้าราชการและครอบครัวที่ได้รับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐ และกลุ่มพนักงานลูกจ้างของบริษัทเอกชน ที่ได้รับความคุ้มครองจากการจ่ายเงินสมทบภาคบังคับ โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากภาครัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) มีการนำเสนอสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อครอบคลุมกลุ่มคนด้อยโอกาสต่างๆ ซึ่ง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลได้นำเสนอโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งถือว่าเป็นการจัดบริการสุขภาพสำหรับทุกคน อย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยที่รับรองว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพโดยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30 บาท ต่อครั้ง (โดยที่มีการยกเว้นค่าบริการ 30 บาทนี้ สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้มีรายได้น้อย ที่มีอยู่ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด) ผลลัพธ์ของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ทำให้อัตราตาย (โดยเฉพาะอัตราตายของทารกและเด็กที่มีอัตราตายของทารกต่ำเพียง 11 ต่อ 1,000 ของการคลอด) และมีการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเมื่อแรกเกิดอย่างมีนัยสำคัญ ที่ปัจจุบันสูงถึง 74 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญมากสำหรับประเทศยากจน นอกจากนี้ ยังขจัดประวัติศาสตร์ของความไม่เท่าเทียมกัน ในอัตราตายของทารก ระหว่างภูมิภาคที่ร่ำรวย และภูมิภาคที่ยากจนในประเทศ จึงทำให้ทั้งกลุ่มคนรวยและคนจนในประเทศไทยมีอัตราตายของทารกต่ำ

ในกรณีที่มักจะมีการประเมินสถานการณ์ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการขาดแคลนปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการจัดบริการสุขภาพที่มีการบริหารจัดการที่ดี และสามารถซื้อหาได้สำหรับทุกคน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ในปัจจุบัน โลกนี้อาจจะมีทรัพยากรและความชำนาญที่ไม่เพียงพอสำหรับการจัดบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนได้ ซึ่งนี้ไม่ใช่เหตุผลที่จะยกเลิกความต้องการไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธการจัดการบริการใดๆ เท่าที่จะสามารถจัดให้กับทุกคนได้ทันทีในปัจจุบัน โดยในบริบทนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจกับคำเตือนสำคัญของ พอล ฟาร์เมอร์ (Paul Farmer) ในหนังสือ “พยาธิสภาพของอำนาจ : สุขภาพ สิทธิมนุษยชนและสงครามใหม่กับความยากจน” (Pathologies of Power : Health, Human Rights and the New War on the Poor) ที่กล่าวว่า “ข้ออ้างที่ว่า พวกเราอยู่ในยุคที่มีทรัพยากรจำกัดนั้น เรามักจะลืมที่จะกล่าวถึงว่า ความขาดแคลนทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนี้ ลดลงกว่าที่เคยขาดแคลนอยู่ในอดีตมากแล้ว”

นอกจากนี้ พวกเรายังต้องบันทึกถึงบทบาทสำคัญของบริการสุขภาพที่ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น โดยการลดความยากจนในมิติของความเป็นมนุษย์ และช่วยขจัดความยากจนที่ประเมินตามคำจำกัดความทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งของการลดความยากจนทางเศรษฐกิจนี้ เกิดจากการเพิ่มผลผลิต ที่เกิดจากการที่ประชาชนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น ทำให้มีค่าแรงสูงขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ไม่เกิดความยากจนในกลุ่มคนด้อยโอกาส และผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพจากค่ารักษาพยาบาลแพง และขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง ประสบการณ์ของประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลสามารถลดลงอย่างมากจากการก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

บุคคลสำคัญระดับโลกอีกท่านหนึ่งที่กล่าวถึงระบบบัตรทองของไทยคือ แพทย์หญิงมาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ท่านผู้นี้เป็นชาวจีนจากฮ่องกง รู้จักเมืองไทยดี เพราะเคยได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลจากผลการควบคุมโรคไข้หวัดนกที่ระบาดครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อ พ.ศ. 2540 แพทย์หญิงมาร์กาเรต ชาน ได้กล่าวในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council : ECOSOC) เรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage ) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ว่า “สุขภาพที่เลวทำให้ประชากรโลกกว่าร้อยล้านกลายเป็นคนยากจน เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าบริการสุขภาพ เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถจ่ายไหว (affordable) และต้องไม่มีผู้ใดหรือครอบครัวของผู้ใดถูกทำให้ยากจน เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ”

แพทย์หญิงมาร์กาเรต ชาน ได้กล่าวถึงประเทศไทยในการอภิปรายครั้งนั้นว่า “มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยลดความยากจน ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถป้องกันประชาชนกว่า 100,000 หลังคาเรือน มิให้ตกไปสู่ความยากจนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา”

ชาวเอเชียที่มีตำแหน่งสำคัญระดับโลกอีกท่านหนึ่งที่กล่าวถึงระบบบัตรทองของประเทศไทย คือ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในการประชุมโต๊ะกลมเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 ชื่นชมรัฐบาลไทยว่า “ผมขอชื่นชมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย – ท่านไม่เพียงให้บริการทุกอย่างฟรี แต่ท่านได้ขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน – ทั้งผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และชนกลุ่มน้อย ประเทศไทยยังใช้นวัตกรรมในการจัดบริการสุขภาพให้แก่ประชากรในชนบทด้วย”

นายบันคีมูน ยังกล่าวว่า ท่านได้เรียนรู้ว่าการให้บริการสุขภาพถ้วนหน้านั้นต้องการ “ความคิดแบบใหม่” (innovative thinking) และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ไม่เป็นความรับผิดชอบเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ “ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน – ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม” 

ผู้มีตำแหน่งในองค์กรระดับโลกอีกท่านหนึ่งที่กล่าวถึงระบบบัตรทองของไทย คือ นายแพทย์ จิมยองคิม ประธานธนาคารโลก ท่านผู้นี้เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ก่อนมาเป็นประธานธนาคารโลก ได้ออกจากอาชีพแพทย์ไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธมาแล้ว มหาวิทยาลัยดาร์ดมัธเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีชื่อเสียง และอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นยอด (ไอวี่ลีก) ของสหรัฐ นายแพทย์ จิมยองคิม ได้กล่าวถึงระบบบัตรทองของไทยถึง 3 วาระ ดังนี้

ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ นายแพทย์จิมยองคิม ได้กล่าว สุนทรพจน์ในหัวข้อ “ความยากจน สุขภาพ และอนาคตมนุษย์” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 กล่าวถึงระบบบัตรทองของไทย ดังนี้

“การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2544 โครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่แต่เดิมไม่มีหลักประกัน และเมื่อถึงปี 2552 โครงการได้ลดจำนวนประชาชนคนไทยที่ทุกข์ยากจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่ทำให้ถึงขั้นล้มละลายลงไปแล้วกว่า 3 แสนคน”

“และผมขอชื่นชมประเทศไทยที่เริ่มโครงการนี้ แม้จะมีข้อห่วงใยในเรื่องความยั่งยืนทางการเงินที่หยิบยกขึ้นมาโดยสถาบันของผมเอง คือ ธนาคารโลก ผู้นำด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมีความมุ่งมั่นอย่างกล้าหาญที่จะขยายการครอบคลุมหลักประกันแก่ประชากรทั้งประเทศ ทุกวันนี้โลกกำลังเรียนรู้จากตัวอย่างของประเทศไทย” 

นายแพทย์จิมยองคิม กล่าวเช่นนี้ เพราะเมื่อประเทศไทยตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายนี้ เมื่อ พ.ศ. 2544 ธนาคารโลกเป็นองค์กรที่ออกมาส่งเสียงคัดค้าน

ต่อมาในการประชุมเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดโดยรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับธนาคารโลก ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น นายแพทย์จิมยองคิมได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงระบบบัตรทองของประเทศไทย ดังนี้

“ประเทศไทยได้มุ่งเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งของกำลังคนด้านสุขภาพ โดยการผลักดันเพื่อการปฏิรูปของเครือข่ายของแพทย์ชนบท นอกจากการเพิ่มจำนวนแพทย์และพยาบาล ยังมีการเพิ่มเงินเดือนและระบบจูงใจต่างๆ เพื่อดึงดูดให้บุคลากรเหล่านี้ทำงานอยู่ได้ในชนบท ผลจากการเพิ่มจำนวนกำลังคนด้านสุขภาพและปัจจัยอื่นๆ ทำให้มีการปรับปรุงบริการสุขภาพที่จำเป็นต่างๆ ตั้งแต่เริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อุบัติการณ์ของภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ นิยามของภาวะล้มละลายดังกล่าวคือ การที่ประชาชนต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าเกินกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อุบัติการณ์ดังกล่าวในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด ลดลงจากร้อยละ 6–8 ในปี 2539 เหลือเพียงร้อยละ 2–8 ในปี 2551 ผลกระทบดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนในจังหวัดยากจนที่สุดในภาคอีสาน จำนวนครัวเรือนยากจนลดลงจากร้อยละ 3.4 ในปี 2539 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 1.3 ในช่วงปี 2549 – 2552”

ในการประชุมเรื่อง มุ่งสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 2573 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เมื่อ วันที่ 11 เมษายน 2557 นายแพทย์จิมยองคิม ได้กล่าวถึงประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

“ประเทศอย่างญี่ปุ่น ไทย และตุรกี ได้แสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาที่จะให้ประชาชนของตนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังมีประเทศอื่นๆ ดำเนินตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเมียนมา ไนจีเรีย เปรู เซเนกัล เคนยา แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สูงสุด ประเทศเหล่านี้ต่างระดมทรัพยากรมุ่งสู่การปฏิรูป เพื่อเปลี่ยนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากสโลแกนสู่ความเป็นจริง” 

ติดตามต่อตอนที่ 16