ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ : ‘พยาบาลวิชาชีพภาคอิสาน’ เคลื่อนไหวปัญหาความเหลื่อมล้ำ-เงินเดือนตัน-ไม่มีสวัสดิการ จ่อลองฟ้อง รพ. เรื่องเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เป็นตัวอย่างเพื่อดู ‘สธ.’ จะว่าอย่างไร

เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการ ได้รับรายงานมาว่า สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “การขับเคลื่อนวิชาชีพในยุคเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการจัดการดูแลเชิงบูรณาการ” มี “พยาบาลวิชาชีพ” จากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

ต่อมามีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกจาก “พยาบาลวิชาชีพ” ท่านหนึ่งเขียนร้องเรียนผ่านไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็น “พยาบาลวิชาชีพ” โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ทำงานเป็นพยาบาลมา 3 ปี ได้เงินเดือน 13,700 บาท ในจดหมายเล่าว่า มีความคับข้องใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในวิชาชีพนี้ จึงอยากได้รับความเป็นธรรม

จดหมายจากพยาบาลวิชาชีพฉบับนี้ ตั้งคำถามว่า เหตุใดพยาบาลวิชาชีพที่จบระดับปริญญาตรี ไม่ได้รับค่าตอบแทนเงินเดือน 15,000 บาท เช่นดังสายอาชีพอื่นๆ

“ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่เหตุใดท่านเปลี่ยนแค่ชื่อแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ, พยาบาลทำงานเป็นกะ (เวร) อดหลับอดนอน ค่าตอบแทนส่วนนี้น้อยมาก, พยาบาลวิชาชีพ ส่วนใหญ่ ได้แค่ ซี 7 ไม่สามารถทำ ซี 8 ได้ ยุติธรรมหรือ ? นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการบรรจุ ที่ต้องการบรรจุเหมือนกับสายอาชีพอื่น”

โดยในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนั้นมีการเล่าถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ในวิชาชีพ และแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้

จากข้อเสนอพบว่า ปัญหาใหญ่ ๆ ที่พยาบาลกำลังประสบอยู่ในขณะนี้มี 3 ประเด็น คือ

ประเด็น 1. ความไม่เท่าเทียมในการจ้างงาน เพราะเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรี คือ 15,000 บาท แต่พบว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งที่จ้างพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว โดยให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 - 13,000 บาท แล้วมีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ให้อีก 1,500 - 2,000 บาท เงินค่าหอพักอีกประมาณ 1,500 บาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียม เพราะเงิน พ.ต.ส. และค่าหอพักไม่ควรนำมานับรวมอยู่ในเงินเดือน

ประเด็นที่ 2 เรื่องเงินเดือนตันอยู่แค่ซี 7 พยาบาลบางคนอยู่ซี 7 มาเป็น 10 ปี แต่เงินเดือนก็ตันอยู่แค่นั้น ไม่สามารถเลื่อนไหลได้ ทั้งๆ ที่เงินเดือนและตำแหน่งควรขยับเพิ่มขึ้นตามภาระงานและผลงาน

ประเด็นที่ 3 เรื่องสวัสดิการ เพราะการทำงานของพยาบาลมีความเสี่ยง แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ตัวอย่างเช่น การส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการส่งตัวจนเกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ก็ไม่มีสวัสดิการรองรับ

“เราก็อยากให้สังคมได้ยินว่ามันมีความเหลื่อมล้ำมาก พยาบาลเหมือนทำงานราคาถูก อย่างเรื่องเงินเดือนไม่ถึง 15,000 ก็มีคุยกันว่า จะลองฟ้องสักโรงพยาบาลดูไหมว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร หรือเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการ หลายคนก็บอกว่าถ้ายังไม่บรรจุจะแต่งชุดขาวไปชุมนุมที่ทำเนียบหรือลานพระรูปฯ เลยไหม เป็นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ และส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการไปชุมนุม เพราะสามารถแสดงออกอย่างอื่นได้หลายทาง เช่น ติดโบว์ดำ ขึ้นแผ่นป้ายแสดงจุดยืน หรือรวมตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องไปที่ทำเนียบก็ได้ เป็นต้น”

ขอบคุณที่มา : www.manager.co.th