ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ : มะเร็ง!!! ป่วย-ตายพุ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจนล้วนหนีไม่พ้น วัฏจักรการเกิด แก่ เจ็บ และตาย การมีชีวิตอยู่โดยไม่มีโรคจึงถือเป็นลาภอันประเสริฐ

และเมื่อพูดถึงการเจ็บป่วยและตายด้วยโรคร้าย หนึ่งในเพชฌฆาตร้ายระดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะนึกถึง คงไม่มีโรคใดเกินหน้า “โรคมะเร็ง” เพราะมีหลายครอบครัวที่นอกจากต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้วบางรายถึงขั้นหมดตัว ไปกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยเลย

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง ระบุถึงสถานการณ์ของโรคมะเร็ง ที่ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรทั่วโลก ซึ่งเป็นรายงานจากองค์การอนามัยโลกในปี 2555 ที่ระบุว่าพบประชากรทั่วโลก มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 14 ล้านราย และเสียชีวิตอีกประมาณ 8.2 ล้านราย แต่ที่น่าตกใจคือการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านราย

ขณะที่สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยจะพบว่า มะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชาชนชาวไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2555 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ ประมาณ 100,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 60,000 ราย หรือเฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 7 รายต่อชั่วโมง

และนั่นส่งผลให้โรคมะเร็งกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่วงการสาธารณสุขไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) ทั้งประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

ทีมข่าวสาธารณสุขไทยรัฐ ได้มีโอกาสเดินทางไปสังเกตการณ์การประชุมและเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยที่เกิดจากการรักษาโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 19 ส.ค.-20 ส.ค. 2558 ที่ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยของ ศาสตราจารย์มาร์ค วู้ดวอร์ด ศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ศาสตราจารย์ด้านสถิติและระบาดวิทยามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยามหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดใน ASEAN

ศาสตราจารย์มาร์ค วู้ดวอร์ด

ศาสตราจารย์มาร์ค วู้ดวอร์ด เล่าว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาระของผู้ป่วยและครอบครัวที่เกิดจากการรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งช่วงได้รับการรักษา โดยมีผู้ป่วยมะเร็งเข้าร่วมการศึกษาถึง 9,513 ราย ซึ่งพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งใน ASEAN เสียชีวิตจากมะเร็งภายในหนึ่งปี หลังเริ่มการวินิจฉัยและรักษา และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวต้องประสบกับปัญหารุนแรงทางด้านเศรษฐานะในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากการเป็นมะเร็ง

“ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตและประสบกับปัญหารุนแรงทางด้านเศรษฐานะในครอบครัวภายในระยะเวลา 12 เดือนหลังจากเป็นโรคมะเร็ง เช่น ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รายได้ผู้ป่วยและครอบครัวต่ำ ไม่มีประกันสุขภาพ เป็นต้น” ศาสตราจารย์มาร์ค วู้ดวอร์ด กล่าวในตอนหนึ่ง พร้อมระบุด้วยว่า จากผลการศึกษา ปี 2555 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกว่า 770,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 527,000 ราย ซึ่งคาดว่าอีก 15 ปีข้างหน้าหรือในปี 2573 จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 70% หรือประมาณ 1,300,000 ราย

ผลจากงานวิจัยยังตอกย้ำอีกว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ จะส่งผลให้สังคมมีอัตราเสี่ยงที่โรคมะเร็งจะลุกลามเพิ่มมากขึ้นอีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลการวินิจฉัยโรคมะเร็งในภูมิภาคฯ ก็ถือว่าน่าสลดใจอย่างมาก ด้วยตัวเลขกว่า 75% ของผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิต มีปัญหาด้านการเงินภายในปีแรกหรือต้องรับการรักษาโรคมะเร็ง

และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ “โรคมะเร็ง” มีผลกระทบหลายด้านในกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำ เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งแล้ว ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องพบกับความยากลำบากในการได้รับการรักษา ซึ่งด้วยภาระการรักษาที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเยียวยาด้านภาระการเงินของโรคมะเร็งจึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขโดยด่วน เพื่อจะได้ช่วยลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

“การศึกษาวิจัยนี้เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนและตีแผ่ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีนโยบายการควบคุมโรคมะเร็ง (cancer control policy) ระดับชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (low and middle income) เช่น ประเทศในกลุ่ม ASEAN รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและไม่แพงจนเกินไป จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในอนาคตของการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป” ศาสตราจารย์มาร์ค วู้ดวอร์ด กล่าวสรุปในที่สุด

ทีมข่าวสาธารณสุขไทยรัฐ มองว่าการศึกษาวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการนำผลจากการวิจัยออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงสะท้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว และช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนานโยบายการดูแลรักษาโรคมะเร็งในระดับชาติ

ทั้งนี้เรายังหวังอีกว่าในอนาคตอันใกล้ คนไทยจะมีโอกาสได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้มีโอกาสรอดเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัวของผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกด้วย

และสำคัญที่สุดคือความหวังในการที่จะสามารถล้อมคอก “การเจ็บป่วยและตาย” ด้วยภัยเงียบจากโรคมะเร็ง เพชฌฆาตร้ายของมนุษยชาติในปัจจุบัน !!!

ที่มา : http://www.thairath.co.th