ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นางระรินทิพย์  ศิโรรัตน์ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการที่ด้อยลง เช่น มีไอคิวลดต่ำลง ทักษะความสามารถและมาตรฐานการศึกษาก็อยู่ในระดับท้ายๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน  ถึงเวลาแล้วที่ประเทศเราควรจะต้องตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของเด็ก โดยต้องดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา รวมทั้งการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นรากฐานของทุกช่วง วัยอื่นๆ จากผลการศึกษาของ ศ.ดร.เจมส์ เจ. เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล พบว่า การลงทุนในเด็กเล็ก จะได้รับผลตอบแทนระยะยาวกลับมาถึง 7 เท่า

นางระรินทิพย์ กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญและลงทุนกับการพัฒนาเด็กแรกเกิดในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ  ตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูเหมาะสมตามวัยเพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบหลักการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยจัดสรรเงินให้แก่เด็กแรกเกิดที่มีสัญชาติไทย อยู่ในครอบครัวยากจนและครอบครัวที่เสี่ยงต่อความยากจนที่เกิดระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม 2558  ถึง 30 กันยายน 2559  รายละ 400 บาท ต่อคน ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจ่ายให้กับมารดาของเด็กแรกเกิดเพื่อใช้ในการเลี้ยงดูเด็กเป็นการคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการพื้นฐานที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กให้ได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ และมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ให้การดูแลในมิติด้านสังคมอื่นๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมีการส่งต่อข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่ขอรับสิทธิให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทีมหมอครอบครัว และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้คำแนะนำดูแลสุขภาพแม่และเด็ก และติดตามพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่อง

นางระรินทิพย์ กล่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของครอบครัวที่ยากจน โดยให้การอุดหนุนเดือนละ 400 บาท ต่อคน  ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี พ่อแม่สามารถใช้เงินอุดหนุนนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อลูกน้อย เช่น เป็นค่าเดินทางไปรับบริการสาธารณสุข  ค่าอาหารสำหรับแม่ในช่วงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 614 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยมีครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน ได้รับบริการทั้งสิ้น ประมาณ 128,000 ราย

จึงขอเชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้  ลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนง ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2558 - 31 มีนาคม 2559  ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ท่านอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียน ณ สำนักงานเขต, เมืองพัทยา ลงทะเบียน ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา, เทศบาล ลงทะเบียน ณ สำนักงานเทศบาล ,องค์การบริการส่วนตำบล ลงทะเบียน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้ เป็นหญิงตั้งครรภ์ : มีกำหนดคลอด (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 30  กันยายน 2559) อยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน  เด็กแรกเกิดมีสัญชาติไทย (บิดา มารดา หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย) ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ เงินสงเคราะห์บุตรจากกองทุนประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์ของรัฐ

โดยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการลงทะเบียน ดังนี้ แบบลงทะเบียนขอรับสิทธิฯ (ดร.01) / แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) ที่ได้รับการรับรองแล้ว / สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของหญิงตั้งครรภ์ / สำเนาเอกสารแสดงการฝากครรภ์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หน้า 1 / สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด (ยื่นหลังคลอด) / สำเนาสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย (กรณีประสงค์รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร)

ทั้งนี้ สามารถขอรับเอกสารประกอบการลงทะเบียน ได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับลงทะเบียน หรือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือดาวน์โหลดได้จาก www.dcy.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-2651-6532 หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

"เด็กทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด มีสิทธิที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง และได้รับการพัฒนาเหมาะสมตามวัยรวมทั้งมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามบทบาทหน้าที่พึงควรจะได้รับ"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง