ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สพฉ.ยังไม่รับอัตราจ่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินใหม่ที่จ่ายตาม Fee schedule ที่ สพฉ.เสนอให้ใช้อัตราค่าบริการของกรมบัญชีกลางที่จัดทำขึ้นใหม่โดย สวปก.เหตุต้องเพิ่มงบอีกหลายเท่าตัว ให้ สพฉ.กลับไปทำเรื่องเสนอมาใหม่

รายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้นำเสนอ “ร่างระบบบริการและการกำหนดราคาค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” โดยมีข้อเสนอให้กำหนดอัตราจ่ายตาม Fee schedule เพื่อชดเชยค่าบริการให้สถานบริการที่ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินระดับฉุกเฉินมาก (สีแดง) โดยมีสาระสำคัญ คือ

ค่าบริการดังกล่าวครอบคลุมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่ให้บริการใน 72 ชั่วโมงแรก รวมถึงค่าห้องและค่าอาหาร

ผู้ป่วยที่จะได้รับสิทธิชดเชยดังกล่าว จะต้องผ่านการรับรองจากระบบการตรวจสอบ (Preauthorize) จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ก่อนที่จะได้รับการบริการ โดยกระบวนการรับรองจะใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน 15 นาทีนับแต่ผู้ป่วยมาถึงสถานบริการ

ข้อเสนออัตราจ่ายตาม Fee Schedule มีดังนี้

1.ใช้อัตราค่าบริการของกรมบัญชีกลาง ที่จัดทำขึ้นใหม่ปี 2558 โดยปรับค่าแรงเป็น 100% (เดิม กรมบัญชีกลาง ให้คิดค่าแรง 50%)

2.เปรียบเทียบอัตราค่าบริการข้อ 1 กับมาตรฐานกลางของรายการและจํานวนเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ปี 2547 โดยหากพบว่า อัตราค่าบริการใดมีค่าบริการที่สูงกว่าให้เลือกใช้อัตราดังกล่าวนั้น

3.บวกเพิ่มด้วยอัตราค่า Doctor Fee ของการทำผ่าตัดหรือหัตถการ ตามคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ พ.ศ. 2544 สํานักเลขาธิการแพทยสภา โดยเลือกใช้ค่าเฉลี่ยของค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ประกาศ (Mean Doctor Fee)

4.สำหรับค่ายา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา และวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการให้บริการ ให้เบิกจ่ายโดยคิดตามราคาป้ายที่ประกาศไว้ที่ตัวสินค้า

ซึ่งข้อเสนอนี้เป็นร่างที่กรมบัญชีกลางขอให้สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) จัดทำขึ้นเพื่อชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับมาก (สีแดง) ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงค่าห้อง ค่าอาหาร แต่ผู้ป่วยที่จะได้รับสิทธิจะต้องผ่านการประเมินโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก่อน 

แหล่งข่าวกล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมบอร์ด สพฉ. ต่อการนำเสนอเรื่องนี้นั้น ผู้แทนจากทั้งกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ต่างไม่เห็นด้วยที่ สพฉ. จะนำร่างระบบบริการฯ นี้มาใช้ และให้ สพฉ.กลับไปทำเรื่องเสนอมาใหม่ ขณะที่กรมบัญชีกลางก็ยังไม่ได้ยอมรับร่างดังกล่าว และระบุว่า ดูเหมือนว่า สพฉ.ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา แม้แต่สำนักงานประกันสังคมก็ไม่ยอมรับ เพราะหากยอมรับจะต้องเพิ่มงบประมาณมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ร่างนี้โรงพยาบาลเอกชนจะชอบ เพราะทำให้ได้รับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้นมากกว่า ค่า RW (Relative weight หรือค่าน้ำหนักมาตรฐานสัมพัทธ์ หมายถึงต้นทุนเฉลี่ยในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรค) ของ สปสช.และค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ. ผู้ประภัยจากรถ

ทั้งนี้เนื่องจากร่างระบบบริการและการกำหนดราคาค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ได้เสนอให้ใช้อัตราค่าบริการของกรมบัญชีกลางที่จัดทำขึ้นใหม่โดย สวปก.ปี 2558 ที่ปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 100% จากเดิมที่กรมบัญชีกลางให้คิดค่าแรง 50% มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานกลางของค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันภัย หรือ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถจ่ายให้โรงพยาบาล หากค่ารักษาของหน่วยงานใดสูงกว่าให้ใช้อัตรานั้น และบวกเพิ่มด้วยค่าเฉลี่ยเลขคณิตของค่าธรรมเนียมแพทย์ (Mean Doctor fee) ตามคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ พ.ศ. 2544 ของแพทยสภา ตัวอย่างเช่น ค่าเปิดหลอดเลือดดำ (cut down) ราคากรมบัญชีกลางเพิ่มค่าแรง 100% ราคา 900 บาท แต่ราคามาตรฐานกลางของ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถไม่มี เมื่อนำมาคิดคำนวณตามอัตราที่เสนอ จะได้ 900 บาท บวกเพิ่มค่ากลางบริการทางการแพทย์ อีก 3,000 บาท จะเป็น 3,900 บาท เป็นต้น ส่วนค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ให้คิดราคาตามป้ายราคาที่ประกาศไว้ในตัวสินค้า

“อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องเข้ามาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรในกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน จะใช้ร่างใหม่ที่ทำโดย สวปก.หรือไม่ หรือจะให้แต่ละหน่วยงานกลับไปใช้แนวทางของแต่ละกองทุนเหมือนที่เคยทำมาก่อนจะมีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ของรัฐบาล คือ สปสช.ก็ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ส่วนผู้ประกันตนก็ใช้ระเบียบของสำนักงานประกันสังคม ที่ให้รักษาในโรงพยาบาลอื่นได้ 72 ชั่วโมง แล้วให้ส่งกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด หากใช้ตามแนวทางเดิมผู้ที่จะมีปัญหามากที่สุดคือผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หากรักษาจนครบ 72 ชั่วโมงแล้วจะมีปัญหาเรื่องการส่งตัว เพราะไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด” แหล่งข่าวจากการประชุมบอร์ด สพฉ.กล่าว

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินมีอัตราไม่เหมาะสมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่าควรมีการทบทวนแนวทางการจ่ายตาม RW ของ สปสช.ใหม่ให้ค่ารักษามีความทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม และควรเพิ่มค่า RW ให้กับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลรัฐได้ค่า RW ในการรักษา 10,500 บาท ก็ควรให้ค่า RW ของโรงพยาบาลเอกชนเป็น 15,000 บาท ในการรักษาโรคเดียวกัน เนื่องจากต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ.