ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข แนะคนไทยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยให้กินผักสด ผลไม้สด ให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัม ออกกำลังกายให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 30นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เลิกสูบบุหรี่ ชี้หากเลิกได้ 2 ปี ความเสี่ยงเกิดโรคลดลงอย่างรวดเร็ว เผยสถิติล่าสุดปี 2557คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ประมาณ 58,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน  

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สมาพันธ์โรคหัวใจโลก กำหนดให้ 29 กันยายนเป็นวันโรคหัวใจโลก ปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์ “ดูแลสุขภาพหัวใจ ในทุกที่และทุกเวลา” เพื่อให้ทั่วโลกเร่งป้องกัน ซึ่งโรคหัวใจจัดเป็นโรคฉุกเฉินอันตรายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 17 ล้านกว่าคน หากไม่มีการป้องกันแก้ไข คาดว่ายอดการเสียชีวิตในปี2573 จะเพิ่มเป็น 23 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดในปี 2557 คนเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ในอันดับต้นๆของการเสียชีวิตทั้งหมด จำนวน  58,681 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขป้องกันลดการเสียชีวิต โดยจัดระบบบริการผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาทั้งให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว ใส่สายสวนขยายหลอดเลือด การผ่าตัด ในเครือข่ายทุกเขตสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขณะนี้การรอคิวผ่าตัดสั้นลงจาก 9 เดือน เหลือ 3 เดือน ในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้สัญญาณอาการของโรคหัวใจ ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอกคล้ายถูกของหนักกดทับ  ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขนด้านซ้าย หายใจลำบาก หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้ประชาชนโทรแจ้งที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง     

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่ค่อยๆ ก่อตัว ใช้เวลานานหลายปี ทำให้ผู้เป็นโรคระยะเริ่มแรกไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค และไม่ดูแลสุขภาพตนเอง ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อจะได้รู้สถานะตัวเองว่า มีความเสี่ยงสุขภาพใดบ้าง เช่น หมั่นตรวจเช็คความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด น้ำหนักตัว ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนอื่น ได้แก่ โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และคนอ้วน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ ดูแลระดับน้ำตาล ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และให้เลิกสูบบุหรี่ หากเลิกได้ 2 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจจะลดลงอย่างรวดเร็ว และภายใน 15 ปี จะเสี่ยงเท่ากับคนปกติ ส่วนอาหารการกิน ให้หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่ใช้ส่วนประกอบการปรุงที่ค่อนข้างเค็ม มีเกลือค่อนข้างมาก หากเป็นไปได้ควรปรุงอาหารกินเองใส่น้ำตาล เกลือ ในปริมาณที่อ่อนหวาน ไม่เค็ม

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ แนะนำให้ประชาชนออกกำลังกายให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เลิกสูบบุหรี่และหันมากินผักสด ผลไม้สดให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัม หรือ 4 ขีด และให้กินจนถึงขั้นเป็นของกินเล่นแทนขนมกรุบกรอบ