ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอ็นจีโอระบบสุขภาพ ระบุกรณี นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงยูเอ็น “ยกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนจุดแข็งประเทศไทย” สะท้อนความสำเร็จ หลังมุ่งพัฒนา 13 ปี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แถมถือเป็นพันธสัญญาในเวทีโลก ชี้หลังกลับไทยต้องเดินหน้ากระจายทรัพยากร บุคลากรและงบประมาณ ทำระบบมีคุณภาพยิ่งขึ้น     

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (The Path towards Universal Health Coverage: The Promotion of Equitable Global Health and Human Security in the Post-2015 Development Era) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์กว่า ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่ง ที่มีการจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานกึ่งอิสระเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐบาล จัดหาบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยให้คนที่เจ็บป่วยกว่าร้อยละ 90 เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น และไม่ต้องประสบภาวะล้มละลายจากการรักษา จากการบริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้งบประมาณโครงการอย่างสมเห็นสมผล นับเป็นความสำเร็จที่พิสูจน์ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป    

นายนิมิตร์ กล่าวว่า แต่ภายใต้ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นนี้ ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะแม้จะมีระบบบริหารจัดการงบประมาณที่ดี แต่พอจำกัดด้วยงบประมาณทำให้กระทบทั้งหน่วยบริการในฐานะผู้ให้บริการที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และผู้ให้บริการซึ่งเป็นประชาชน จึงจำเป็นที่รัฐต้องทบทวนโดยดูภาพรวมหลักประกันสุขภาพทุกระบบ สนับสนุนและการกระจายทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างเป็นธรรมกว่านี้ รวมถึงการเพิ่มเติมการลงทุนในหน่วยบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากภายหลังที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้รับจัดสรรงบลงทุนอยู่บ้างแต่อาจไม่เพียงพอในการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการรับบริการที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องสนับสนุน 

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภารกิจสำคัญของรัฐเพื่อดูแลประชาชน  แล้วรัฐทุกประเทศก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถ้อยคำต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ต้องไม่ใช่แค่การพูดเฉยๆ แต่ต้องให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เรียกว่าเป็นพันธสัญญาที่ไทยได้พูดกับนานาชาติแล้ว โดยเฉพาะการสนับสนุนพัฒนาการบริการที่ดี มีคุณภาพและกระจายทรัพยากร และต้องไม่มองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระงบประมาณประเทศ แต่ต้องมองเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลด้านสุขภาพให้กับประชาชน” ผู้อำนวยการมูลนิธีเข้าถึงเอดส์ กล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ สะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรียอมรับว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยจนสามารถนำไปเสนอต่อเวทีโลกได้ แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อจากนี้ คือต้องทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนที่ดำเนินอยู่นี้เป็นระบบที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ปล่อยปละปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผ่านมา ถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอย่างมากจนกลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต้องเข้าใจว่าไม่ได้เกิดจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน  นักวชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และราชการ จึงต้องเปิดกว้าง เพราะหากเป็นการบริหารโดยราชการล้วนๆ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่มีโอกาสนำเรื่องนี้เสนอในเวทีนานาชาติได้แน่นอน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงต้องตระหนักและพัฒนาระบบให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม”  

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ วันนี้ไม่เพียงแต่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศ แต่ยังเป็นนโยบายสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับคนในสังคมได้ทันที พร้อมกันนี้ยังเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในฐานะประเทศรายได้ปานกลาง มีความเหลื่อมล้ำรายได้ในสังคมอยู่มาก แต่กลับสามารถจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าได้ สะท้อนให้เห็นว่าเรามีความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จ กลายเป็นนโยบายหลักของไทย

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงการสนับสนุนขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากนี้ น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า การประกาศในเวทีนี้ถือเป็นพันธสัญญาที่นายกฯ ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและกระจายบุคลากรอย่างเป็นธรรม รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ในระบบสุขภาพ รวมไปถึงงบประมาณ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการควบคุมงบประมาณจะต้องนำเงินในทุกระบบรักษาพยาบาลมาร่วมกันและเกลี่ยให้เกิดความเท่าเทียม