ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ประชาชนผู้ห่วงใยวงการสาธารณสุขส่งหนังสือถึงประธาน คตร.เรียกร้องให้เปิดเผยผลสอบ สสส.เพื่อความโปร่งใส ด้านผู้ว่าฯ สตง. แจงตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส.ทุกปี ซึ่งเป็นการตรวจตามปกติ ไม่ได้มีประเด็นอะไร และไม่ได้มีแค่ สตง.หน่วยงานเดียวที่ตรวจสอบ ยันตามกฎหมายกำหนดให้ สตง.ต้องตรวจสอบ

นสพ.มติชน : กรณีมีการส่งต่อจดหมายเวียนทางโซเชียลมีเดีย โดยคาดการณ์เป็นผู้บริหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่ไม่ระบุชื่อ ส่งตรงถึงบุคลากร สสส. โดยระบุถึงรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ระบุว่า งานของ สสส.อยู่นอกขอบข่ายงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีการยื่นรายงานการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีคำสั่งให้ สสส.หยุดทำงาน 3 เดือน โดยหยุดให้การสนับสนุนงบประมาณเครือข่าย สสส.ต่างๆ และอาจให้หน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าไปตรวจสอบให้แล้วเสร็จ 3 เดือน จึงจะเดินหน้างาน สสส.ต่อไป

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คตร.ได้เข้าตรวจสอบ สสส.อย่างละเอียด และพบถึงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสร้างเสริมสุขภาพจำนวนมาก และเท่าที่ทราบคือ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) หรือ TUHPP ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (เอ็นจีโอ) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการรับงบประมาณจาก สสส.ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ซึ่งพบว่ากว่าครึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานสร้างเสริมสุขภาพ แต่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานการเมืองเกือบทั้งหมด เช่น เรื่องปฏิรูปการเมือง การหาวิธีเลือกตั้งที่ดี สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นต้น ซึ่งเดิมทีมีข้อมูลระบุอยู่ในเว็บไซต์ ของ นสธ. แต่ขณะนี้พบว่ามีการลบข้อมูลทั้งหมดลงจากเว็บไซต์แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด มีหนังสือลงชื่อประชาชนผู้ห่วงใยวงการสาธารณสุขไทย ส่งถึง พล.อ.ชาติอุดม ติดถะสิริ ประธาน คตร. ตีตราวันที่ 22 กันยายน 2558 โดยเรียกร้องให้เปิดเผยผลการตรวจสอบของ สสส. เพื่อความโปร่งใส เนื่องจากมีกระแสข่าวที่ไม่ส่งผลดีต่อ คตร.โดยเฉพาะ พล.อ.ชาติอุดม ทำนองมีผู้บริหาร สสส.คนหนึ่งมีสายสัมพันธ์กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และสามารถเปลี่ยนแปลงผลตรวจสอบครั้งนี้ได้

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า สตง.มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. ทุกปี ซึ่งเป็นการตรวจสอบตามปกติทั่วไปในเรื่องของงบการเงิน การใช้จ่ายเงินทั่วไป ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้จ่ายเงิน รวมถึงความคุ้มค่าด้วย ก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร และผลการตรวจสอบต้องรายงานไปตามระเบียบ ตามกระบวนการตามปกติ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบไม่ได้มีแค่ สตง.ตรวจสอบเพียงหน่วยงานเดียว ยังมี คตร.ตรวจสอบด้วย ซึ่งความสนใจของสังคม ขณะนี้น่าจะอยู่ที่การตรวจสอบของ คตร.มากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี สสส.ขอยกเลิกการตรวจสอบจาก สตง.และจะใช้บริษัทตรวจสอบบัญชีเอกชนตรวจสอบงบประมาณแทน นายพิศิษฐ์กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องตรวจสอบโดย สตง.เพราะมีระเบียบข้อบังคับ มีกฎหมาย มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้อยู่

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 4 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)