ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย เตรียมเข้าพบ “วิษณุ-หมอปิยะสกล” 9 ต.ค. นี้ จี้แก้ความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน พร้อมเยียวยา ขรก.รับผลกระทบทั่วประเทศ จาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ปี 51 เปลี่ยนระบบซีเป็นระบบแท่ง ส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ชี้รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาหลังปล่อยคาราคาซังนาน 7 ปี    

นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในวันที่ 9 ตุลาคม นี้ ตัวแทนสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย รวม 32 องค์กร และเครือข่ายสมาชิกจาก ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) (ชวส.), ชมรมเจ้าพนักงานอาวุโส (ประเทศไทย) (ชอส.), ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุข, ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด และเครือข่ายสาธารณสุขอื่นๆ จะเดินทางขอเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามและทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอัตราเพดานเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ทั่วประเทศ ตามที่ นายไพศาล บางชวด รักษาการนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมด้วย นายประดิษฐ์ ขัติยะเนตร ประธานชมรม ชวส. และนายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ชอส.และคณะ ได้ยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 และได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เป็นเวลาครบ 60 วันแล้ว

นางทัศนีย์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนของข้าราชการที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ได้ยกเลิกระบบซีเปลี่ยนเป็นระบบแท่ง กระทบต่อขวัญและกำลังใจข้าราชการระดับปฏิบัติงานระดับล่างทั้งระบบ ไม่แต่เฉพาะข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และปัญหานี้เป็นที่ทราบกันมานานเพราะมีการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ในการพิจารณากฎหมายขณะนั้น และที่ผ่านมาแม้จะบอกว่าอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ แต่ต้องบอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ประกาศใช้มาถึง 7 ปีแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริงหลังกฎหมายบังคับใช้จะต้องมีการติดตามประเมินภายใน 2-3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ จนกลายเป็นจุดรั่วของระบบ และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการครูจะยิ่งเห็นความแตกต่างกันอย่างมาก

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการติดตามความคืบหน้าจากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ได้รับคำตอบเพียงว่าเป็นเรื่องที่กระทบทั้งระบบ และไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการใดๆ จึงได้มีการหารือว่าจะขยับในเรื่องนี้อย่างไร เบื้องต้นจึงจะยื่นเรื่องต่อรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขคนใหม่เพื่อที่จะผลักดันแก้ไขปัญหาต่อไป  

“การปรับโครงสร้างระบบราชการ แม้ว่าจะเป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่เมื่อพบปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนที่ห่างกันอย่างมาก จำเป็นที่รัฐต้องแก้ไขปัญหาเร็ว ไม่ใช่ปล่อยคาราคาซังแบบนี้ นอกจากการรื้อระบบเงินเดือนที่เพดานเงินเดือนแตกต่างกันถึงหลักหมื่นบาทระหว่างแท่งชำนาญการและแท่งชำนาญการพิเศษแล้ว รัฐยังต้องดูว่าจะเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบอย่างไร จำเป็นที่ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย” นางทัศนีย์ กล่าว และว่า เมื่อเทียบระดับซี พบว่า ซี 5 6 และ 7 จะเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบมากที่สุด เพราะจากเพดานเงินเดือนที่ต่ำกว่าทำให้เงินเดือนตันเร็ว ซึ่งหากมีการปรับตรงนี้จะต้องดูในภาพรวมเพื่อไม่ให้กระทบกับแท่งอื่นๆ ด้วย

ส่วนจำนวนข้าราชการที่ได้รับผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำของเพดานเงินเดือนนี้ นางทัศนีย์ กล่าวว่า ข้าราชการระดับซี 5 6 และ 7 เป็นข้าราชการกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบ ส่วนจะมีจำนวนเท่าไหน่นั้น ข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ ก.พ.อยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ดูแลข้าราชการทั้งหมด และเรื่องนี้จำเป็นที่รัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเร็ว