ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือกรมควบคุมโรค หนุนหน่วยบริการให้วัคซีนครอบคลุม พร้อมปรับสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนต่อเนื่องโดยตลอดเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคป้องกันได้ พร้อมแจงโครงการขยายนำร่องวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 10 จังหวัดสะดุด เหตุได้ข้อสรุปร่วมแล้วไม่จำเป็นต้องนำร่องอีก พร้อมเตรียมบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีน ปี 2560 นี้ สำหรับเด็กนักเรียน ป.5 – ป.6 ครอบคลุมทั่วประเทศ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นับเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการสนับสนุนวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัยได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนป้องกันโปลิโอ และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของประชากรในประเทศลงได้  

นพ.ประทีป กล่าวว่า ด้วยการพัฒนาและเทคโลยีทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้ารุดหน้า ส่งผลให้มีการวิจัยและผลิตวัคซีนใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันโรคโดยวัคซีนเป็นไปอย่างครอบคลุมมากที่สุด ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับกรมควบคุมโรคได้ติดตามความก้าวหน้าทางวัคซีนและรับข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประสิทธิผลและความคุ้มค่าของวัคซีนใหม่หรือที่ยังไม่มีใช้ในประเทศ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ  2560 สปสช.ได้เตรียมการที่จะขยายสิทธิประโยชน์ด้านวัคซีนสำหรับเด็กเพิ่มเติม โดยวัคซีนที่อยู่ในแผนและหลายฝ่ายให้การสนับสนุน คือ “วัคซีนเอชพีวี” หรือ “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ให้ข้อมูลและแนะนำว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม จากเดิมที่ต้องฉีดถึง 3 เข็ม และให้ฉีดในเด็กนักเรียน ป.5 และ ป.6 ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายลงได้ และในปี 2558 กรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานโครงการนำร่องการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 จ.อยุธยา ซึ่งหาก สปสช.ดำเนินการทั้งประเทศคาดว่าราคาวัคซีนดังกล่าวจะลงมาได้อีก ทำให้อยู่ในวิสัยที่จะของบประมาณสนับสนุนในปี 2560 ได้ สำหรับวัคซีนตัวอื่น เช่น วัคซีนฮิบ (HIB) ป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนโรตา ป้องกันโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น สปสช.อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอยู่

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า สปสช.ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ในปี 2559 เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนโครงการนำร่องให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่จะขยายจาก 1 จังหวัดเป็น 10 จังหวัดนั้น นพ.ประทีป กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการขาดงบประมาณแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะโครงการนำร่องให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 1 จังหวัดของกรมควบคุมโรคได้ให้ข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจแล้ว และหากจะขยายการนำร่องในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมก็ไม่ได้ข้อมูลเพิ่มมากนัก ทั้งยังต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีก ทางกรมควบคุมโรคจึงเห็นว่าน่าจะคอยไว้ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2560 ตามแผนที่กำหนดไว้กับ สปสช.

“กรมควบคุมโรคและ สปสช.มีการทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดผ่านกลไกคณะทำงานประสานการจัดการวัคซีน โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน ส่งผลให้การทำงานด้านวัคซีนเป็นไปด้วยความราบรื่น ช่วยให้เด็กไทยได้เข้าถึงวัคซีนที่จำเป็น และไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระทางงบประมาณมากนัก” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว