ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สสส.ตั้งโต๊ะแถลง แจงยิบใช้งบตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อ อัด คตร.-สตง.ตีความต่างกันในมุมผู้ตรวจสอบบัญชี ยันไร้ประโยชน์ทับซ้อน เร่งประชุมบอร์ดหาทางออก ประธาน คตร.แฉมีนับร้อยโครงการไม่ตรงวัตถุประสงค์ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกแค่ให้ทบทวน โฆษกรัฐบาลแจงนายกฯ ให้ตรวจสอบเพื่อเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์อย่างรัดกุม

เมื่อวันจันทร์ มีความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำหนังสือรายงานผลการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงนายกรัฐมนตรี และมีผลสรุปให้ยุติจ่ายงบประมาณที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า สสส.ได้รับหนังสือจาก คตร.เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารลับจึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้ แต่ยืนยันว่าประเด็นการใช้งบไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น ที่ผ่านมา สสส.ทำงานตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6  ข้อ คือ 1.ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ 2.สร้างความตระหนักของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ

3.สนับสนุนการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.สนับสนุนการวิจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ  5.พัฒนาความสามารถของชุมชน องค์กรเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานภาครัฐ และ 6.สนับสนุนการจัดกิจกรรมและสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังดำเนินการตามกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น

"การใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อาจเกิดจากการตีความที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจาก คตร.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโดยมองในมุมของผู้ตรวจสอบบัญชี ทำให้ข้อมูลหลายอย่างอาจมีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขหรือการตีความที่ผิดพลาด ทำให้มองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ สสส.ยืนยันว่าไม่มี การตีความเป็นเรื่องของวิจารณญาณแต่ละคน แต่ที่ผ่านมา สสส.มีผู้เชี่ยวชาญ 1,200 คน ที่จะมาช่วยพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่" ทพ.กฤษดา กล่าว

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา สตง.เข้ามาตรวจสอบโดยสุ่มตรวจโครงการที่ สสส.สนับสนุน แบ่งเป็น 10 โครงการในภูมิภาค และ 1 โครงการจากส่วนกลาง โดยพบว่ามี 2 โครงการที่ผู้รับทุนใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่ง สสส.ได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยเรียกเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งแต่ละปี สสส.ให้ทุนประมาณ 4,000 โครงการ จะพบประมาณ 5 โครงการที่ผู้รับทุนไม่ทำตามวัตถุประสงค์ ซึ่งก็ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด

เมื่อถามว่า การที่ คตร.ระบุให้ สสส.ยุติการให้ทุนกับโครงการที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์นั้น จะดำเนินการอย่างไร ทพ.กฤษดากล่าวว่า ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุน สสส.ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ก่อน เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่มั่นใจว่าที่ผ่านมา สสส.มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559  ขณะนี้ยังคงมีการเบิกจ่ายตามปกติทุกวัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สสส.ยังไม่มีโอกาสได้ชี้แจงรายละเอียดการทำงานของกองทุนให้ คตร.และ สตง.เข้าใจ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการทำความเข้าใจร่วมกัน ก็จะเข้าใจกรอบการทำงานของ สสส.มากขึ้นว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า สสส.ให้งบประมาณกลุ่มเอ็นจีโอที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ นอกจากนี้ยังเป็นการมอบทุนแก่คนกันเองและคนหน้าเดิมๆ ทพ.กฤษดากล่าวว่า สสส.มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร  เพราะไม่ได้เลือกจากบุคคล แต่พิจารณาจากโครงการเป็นหลัก ส่วนการให้งบประ มาณคนกลุ่มเดิมนั้น  เพราะบางโครงการเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องทำต่อเนื่องจึงจะเกิดผล

ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.กล่าวว่า  ปัจจุบันสัดส่วนงบประมาณของ สสส.แบ่งเป็นงบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงหลัก 35% ได้แก่ เหล้า, บุหรี่, อุบัติเหตุ, อาหาร และการออกกำลังกาย ส่วนที่เหลือเป็นปัจจัยเสี่ยงรอง ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ก็เพื่อให้ได้ผลกลับมาลดปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยที่ผ่านมา สสส.มีการวัดประสิทธิผลของการทำงานโดยให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการวิจัย พบว่างานของ สสส.ช่วยลดความเสี่ยง และเมื่อดูความคุ้มค่าการลงทุนทางงบประมาณด้านสุขภาพ พบว่าอุบัติเหตุลงทุน 1 บาท ให้ผลตอบแทนกลับมา 130 เท่า, ยาสูบผลตอบแทน 18 เท่า, อาหารผลตอบแทน 13 เท่า, ออกกำลังกายผลตอบแทน 6 เท่า, เด็ก เยาวชนและครอบครัวผลตอบแทน 7 เท่า

วันเดียวกัน พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร. กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ คตร.ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส.ว่า ได้สรุปผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบของ สสส.ในโครงการต่างๆ ส่งให้นายกฯ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยส่งไปเป็นเล่มหนา จากกว่าพันโครงการ พบว่ามีนับร้อยโครงการที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัย และควรจะต้องลงไปสนับสนุนให้ระดับชุมชนและลงถึงประชาชนระดับล่างและผู้มีรายได้น้อยด้วย ตอนแรกเน้นการจัดเก็บจากภาษีเหล้าบุหรี่ และมาเน้นลดจำนวนประชาชนที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา แต่ไปๆ มาๆ กลับไม่ตรงตามนั้น

ประธาน คตร.กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปดูเรื่องนี้อีกครั้งว่าโครงการต่างๆ ได้ดำเนินการใช้งบประมาณถูกต้องโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้ง สสส.หรือไม่  อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบครั้งนี้เป็นแค่การให้ไปทบทวนยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ แต่โครงการไหนที่มีความผิดปกติ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ นายกฯ ได้มอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีตามขั้นตอน

"ผมไม่ได้อยากสร้างศัตรู เพราะรู้ว่างบประมาณของ สสส.มีมวลชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก  แต่นโยบายของนายกฯ คือต้องการทำให้เกิดความโปร่งใส และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป ขอให้เข้าใจรัฐบาลและ คตร.ด้วย" พล.อ.ชาตอุดม กล่าวและยอมรับว่า ได้ให้ทบทวนตรวจสอบ สสส.กรณีให้งบสนับสนุนสื่อ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร รวมถึงโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

ช่วงค่ำ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 2 ถึงประชาชน ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เรื่องการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปตรวจสอบ ไม่ได้หมายความว่า ณ ขณะนี้มีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว หากแต่เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนั้นมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วน

"เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างรัดกุม มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และดำเนินการอย่างต่อเนื่องในนโยบาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง" พล.ต.สรรเสริญระบุ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 ตุลาคม 2558