ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สปส.เร่งคลอดกฎหมายลูก 17 ฉบับหลังพรบ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 มีผลบังคับใช้ เผยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา 5 ฉบับ ระหว่างครม.พิจารณา 9 ฉบับ และอีก 3 ฉบับอยู่ระหว่างการปรับแก้นำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง ระบุทั้งหมดต้องเสร็จภายในเดือนนี้ ชงเขตเลือกตั้ง ส.ส.คัด กก.บอร์ด สปส.

นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ทั้ง 17 ฉบับ หลังจากที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศราชกิจจานุเบกษารวม 5 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบ สปส.ว่าด้วยการขอรับประโยชน์ทดแทน ประกาศ สปส. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์กรณีทุพพลภาพ ประกาศ สปส. เรื่อง กำหนดแบบรายการและวิธีการยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ประกาศ สปส. เรื่องกำหนดแบบรายการและวิธีการแจ้งเปลี่ยนข้อเท็จจริง และประกาศ สปส. เรื่อง กำหนดแบบรายการและวิธีการส่งเงินสมทบ

ส่วนอีก 9 ฉบับ มีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณา ลงนาม

นอกจากนี้ในส่วนร่างกฎหมายลูกที่ยัง คงเหลืออีก 3 ฉบับ คือ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอัน มิใช่เนื่องจากการทำงาน และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องกำหนดอัตราและระยะเวลาการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และหลักเกณฑ์ทุพพลภาพมีระดับความ สูญเสียรุนแรงนั้น ได้เสนอขอความเห็นชอบ ต่อบอร์ด สปส. แต่บอร์ด สปส. ให้กลับมาทบทวน

เรื่องนี้ได้เสนอไปแล้ว แต่ทางคณะกรรมการได้ส่งกลับมาให้ทบทวน โดยให้ไปรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เช่น มีผู้ประกันตนที่สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายไม่ถึง 50% มีจำนวนมากน้อยเท่าใด รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์ในการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ให้มีรายละเอียดที่ชัดเจน และให้เสนอต่อบอร์ด สปส.อีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายลูก ได้มีข้อสรุปให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นวิธีการเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 1 พันล้านบาท โดยในกรณีนี้ทางบอร์ด สปส.เห็นชอบให้ รมว.แรงงาน เป็นผู้พิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ เป็นเรื่องที่ สปส. จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายลูกทั้ง 17 ฉบับ จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้