ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสภาเภสัชกรรม หนุน สปสช.จัดระบบบริหารจัดการด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็น ระดับประเทศ มีประสิทธิผล เพิ่มอำนาจต่อรอง ลดราคายา กระจายส่งถึงหน่วยบริการทั่วประเทศ ลดปัญหาจัดเก็บยา รพ. จัดหายายาก โดยเฉพาะกลุ่มยากำพร้า ยาต้านพิษ เน้นเฉพาะยาจำเป็น ไม่ใช่ยาทุกรายการ เพื่อช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง พร้อมเสนอรวมบริหารจัดการยาบัญชี จ.2 เพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยทุกระบบ

ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ในหน่วยบริการและระดับประเทศว่า ภายหลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินนโยบายเพื่อบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งเป็นกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการจัดหายา การจัดซื้อยา การต่อรองราคา และการบริหารจัดการ ในกลุ่มยาที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ยาทุกรายการ โดยเฉพาะในกลุ่มยากำพร้า ยาต้านพิษ และยาบัญชี จ.2 รวมถึงวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาที่หายาก มีการใช้น้อยและราคาแพง แต่เป็นยามีความจำเป็นต้องมีในคลังยาของโรงพยาบาลเพื่อใช้รักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤต ส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในอดีตก่อนมีการจัดระบบบริหารจัดการด้านยา เวชภัณฑ์และวัคซีน การจัดซื้อยาแต่ละโรงพยาบาลจะทำการจัดหาและจัดซื้อกันเอง ส่งผลให้ราคายาที่จัดซื้อไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของโรงพยาบาล โรงพยาบาลใหญ่ในเมืองที่มีจำนวนการสั่งซื้อมาก อำนาจการต่อรองจะมีมาก ต่างจากโรงพยาบาลเล็กที่อยู่ห่างไกล การจัดซื้อยานอกจากทำได้ยากแล้ว ยังมีราคาที่สูงกว่าเนื่องจากต้องบวกค่าขนส่ง อีกทั้งบางครั้งยังจัดซื้อไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยาที่หายาก มีผู้ผลิตน้อย ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาบางรายการ กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย แต่ด้วยการรวมจัดซื้อยาระดับประเทศในปัจจุบัน ทำให้อำนาจการต่อรองมีมาก ราคายาจึงถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับการให้โรงพยาบาลจัดซื้อเอง

ขณะเดียวกันด้วยการจัดระบบคลังยาและการกระจายยาภายใต้ระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) ซึ่ง สปสช.ได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการกระจายยาส่งไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาการจัดเก็บยาของโรงพยาบาลได้ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการรายงานรายการยาในระบบต่อเนื่อง และดูความต้องการยาของพื้นที่ ทำให้มีการตรวจสอบและการเติมยาเข้าสู่คลังยาของโรงพยาบาลและพื้นที่ต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องยาขาด ยาหมดอายุ และการจัดส่งไม่ทัน เป็นระบบที่รับประกันได้ว่าทั้งยาและวัคซีนจะมีใช้ในโรงพยาบาลโดยไม่ขาดแคลน ช่วยลดปัญหาการจัดเก็บยาของโรงพยาบาล

ภก.อำนวย กล่าวต่อว่า หลังจากมีระบบบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงวัคซีน ต้องบอกว่าพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่ต้องจัดหาหรือซื้อยาเอง ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ทั้งการจัดหา การสอบราคา การประกวดราคา กว่าจะทำการจัดซื้อได้ แถมบางรายการยังจัดหาไม่ได้เพราะเป็นยาที่หายาก แต่ด้วยระบบการดำเนินงาน สปสช.ทำให้ตัดขั้นตอนเหล่านี้ในโรงพยาบาลลงได้ แถมมียาเพื่อเบิกจ่ายแน่นอน ลดการสูญเสียจากปัญหายาหมดอายุ นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นระบบที่มีความโปร่งใส ซึ่ง สปสช.ต้องประกันตัวเองอยู่แล้วในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันยังมั่นใจในเรื่องคุณภาพยาที่ได้มาตรฐาน เพราะด้วยการจัดซื้อจำนวนมากระดับประเทศ จึงต้องนำส่งตัวอย่างยาตรวจรับรองคุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน แต่หากจัดซื้อโดยโรงพยาบาลคงไม่สามารถให้บริษัทยาส่งตรวจรับรองคุณภาพได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอำนาจการต่อรองและควบคุมคุณภาพแตกต่างกันมาก

“ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการด้านยา โดยผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการยาในภาพรวมระดับประเทศเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาล และระบบหลักประกันสุขภาพ คงต้องขอบคุณ สปสช.เพราะอย่างน้อยก็มีหน่วยงานหนึ่งที่มองเชิงระบบและได้ดำเนินการบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน จนเกิดประสิทธิผลอย่างที่เห็นนี้”

ภก.อำนวย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการจัดการด้านยาภายใต้ระบบนี้ แม้ว่าในส่วนของยากำพร้าและยาต้านพิษ สปสช.จะบริหารเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงยา ไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพใด แต่ในส่วนของบัญชียา จ.2 ยังครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ซึ่งควรที่จะรวมการจัดซื้อยาหรือให้เบิกจ่ายยาจากระบบของ สปสช.โดยโรงพยาบาลจ่ายคืนค่ายาในภายหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์และครอบคลุมผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ได้เคยนำเสนอต่อ สปสช.แล้ว และมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป