ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมสรุปแนวทางปรับปรุงบัตรทอง เสนอ หมอปิยะสกล 29 ธ.ค.นี้ ระบุ ข้อเสนอจะไม่ชี้ไปทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย บนหลักการ SAFE หรือ Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ เตรียมประชุมสรุปข้อเสนอการสร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพ ในช่วงเช้าวันที่ 29 ธ.ค.นี้ จากนั้นช่วงบ่ายจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ชี้ไปทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย บนหลักการ SAFE หรือ Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency

นายนิมิตร์ ขยายความว่า สำหรับเป้าหมาย Sustainability หมายถึง แหล่งการคลัง ได้แก่ งบประมาณ เงินสมทบ และรายจ่ายสุขภาพของครัวเรือน อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลและครัวเรือน สามารถลงทุนด้านสุขภาพได้ในระยะยาว โดยดัชนีชี้วัดคือภายในปี 2565 รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ของจีดีพี และรายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด

ส่วนเป้าหมาย Adequacy หมายถึง รายจ่ายสุขภาพเพียงพอสำหรับการจัดบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการ รวมทั้งยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็น และป้องกันไม่ให้ครัวเรือนประสบภาวะล้มละลายหรือกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยดูจากเป้าหมายปี 2565 รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ คือ 4.6% ของจีดีพี รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ คือ 17% ส่วนรายจ่ายนอกภาครัฐด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด และรายจ่ายของครัวเรือนต้องไม่เกินระดับที่เป็นอยู่ คือ 11.35%

นอกจากนี้ ภายในปี 2565 อุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องไม่เกินระดับที่เป็นอยู่คือ 0.47% ของครัวเรือนทั้งหมด

ขณะที่เป้าหมายเรื่อง Fairness นั้น มีหลักการที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม หรือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างผู้แข็งแรงและผู้เจ็บป่วย ระหว่างผู้มีความสามารถจ่ายมากกว่าและน้อยกว่า โดยมีรายละเอียดคือ 

1. ความเป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ภายในระบบประกันสุขภาพภาครัฐแต่ละระบบ ตัวชี้วัดและเป้าหมายคือ ภายใน ปี 2565 เพิ่มความเป็นธรรมของการจ่ายเงินสมทบระหว่างผู้มีสิทธิในระบบประกันสังคมให้ใกล้เคียงกับตอนเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนสำหรับการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้เป็น 7 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ (อ้างอิง เมื่อเริ่มมีระบบประกันสังคม ในปี 2534 กำหนดเพดานเงินเดือนที่ 6.2 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ)

2.ความเป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ระหว่างผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบหลัก และ การร่วมจ่าย ณ จุดใช้บริการ (Copayment) โดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย คือภายในปี 2565 บรรลุความเป็นธรรมของการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบหลัก มีข้อเสนอทางเลือก 2 ทาง คือ คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ หรือ คนไทยทุกคนไม่ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ และหากมีการระดมทุนจากการร่วมจ่าย ณ จุดใช้บริการสุขภาพ หรือ Copayment at point of service ต้องเป็นไปตามหลักการที่เสนอข้างต้น

ขณะเดียวกัน ภายในปี 2565 ควรบรรลุความเป็นธรรมในการจ่ายเงินแก่สถานพยาบาลของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ โดยรายจ่ายต่อหัวที่ปรับด้วยโครงสร้างอายุ (Age adjusted expenditure per capita) ของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ต้องมีค่าไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยของทั้ง 3 ระบบหลัก ±10% และกำหนดให้มีมาตรฐานการจ่ายเงินของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้แก่สถานพยาบาลเป็นราคาเดียวกันในทุกประเภทและระดับการบริการ (อาทิเช่น ยา วัสดุการแพทย์ Relative Weight of Adjusted DRG เป็นต้น)

และสุดท้าย เป้าหมายเรื่อง Efficiency หมายถึง การใช้ทรัพยากรในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งในเชิงเทคนิค (Technical efficiency) และในการจัดสรร (Allocative efficiency) ซึ่งต้องคำนึงถึงความทันเวลา และความมีคุณภาพ โดยให้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบใช้ระบบงบประมาณปลายปิด (Close ended budget) ให้มีมาตรการและกลไกการเฝ้าระวังราคาและการควบคุมราคาการเบิกจ่ายของกองทุนและราคาค่าบริการ ยา และเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพ (Efficient reimbursement and price control system) มีการใช้อำนาจในการซื้อร่วมกัน (Collective purchasing power) และมีการใช้มาตรการของรัฐบาล (Government intervention) อย่างเหมาะสม

“จะเห็นได้ว่ามีหลายวิธีการที่ทำได้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มเงิน แต่ยังมีวิธีอื่น เช่น ใช้เงินเท่าเดิม แต่ดูเรื่องการบริการจัดการทั้ง 3 ระบบสุขภาพร่วมกัน การควบคุมราคายา ให้ความสำคัญกับยาสามัญมากขึ้น เป็นต้น โดยคณะกรรมการจะประชุมกันอีกครั้งเช้าวันที่ 29 ธ.ค. เพื่อสรุปว่าจะเสนอรัฐมนตรีในเรื่องใดบ้าง” นายนิมิตร์ กล่าว