ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชน-นักวิชาการ-นศ.-เอ็นจีโอ ชี้ ร่าง รธน.ฉบับมีชัย มีวาระซ่อนเร้นเพียบ ทั้งลิดรอนเรื่องสิทธิของประชาชน เพิ่มบทบาทให้รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมอาลัมภางค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove), UN Women, สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.), โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายแม่ญิงล้านนา ร่วมกันจัดเวที "ประชาธิปไตยหัวใจการพัฒนาที่ยั่งยืน" มีการเสวนา "ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หัวใจหรือจุดตายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี รองประธานคณะกรรมการโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา และผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงประเทศไทย กล่าวว่า การต่อสู้ของผู้หญิงมีมายาวนานและต่อเนื่อง เช่น ในอดีตการต่อสู้ของอำแดงเหมือน ในสมัยรัชกาลที่4 เป็นการเรียกร้องของสิทธิสตรีที่เห็นได้ชัดเจน ส่งผลให้สิทธิของผู้หญิงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2468 สถานะของผู้หญิงได้รับรองสิทธิโดยกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ได้มีการกล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่เป็นการทำเพื่อประชาชน ซึ่งนำมาเพื่อความสุขและสมานฉันท์ของประเทศ

นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ (สชป.) กล่าวว่า แต่เดิมประชาชนไม่ค่อยสนใจเรื่องของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ แต่ในปี 2540 ประชาชนเริ่มรู้จักรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยหน้าที่ของรัฐธรรมนูญจะเป็นการกำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540และ 2550 ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่า ฉบับมีชัยออกมา พบว่า สิทธิของประชาชนถูกริดรอน ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเพิ่มอำนาจให้รัฐ โดยมีแนวคิดที่ว่า เรื่องของสิทธิไม่ต้องเรียกร้อง แต่เรื่องทั้งหมดเป็นของรัฐ อาจสรุปได้ว่า สิทธิของประชาชนถูกดึงให้ต่ำลงโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นางสุนี ไชยรส ผู้ประสานงานเครือข่ายขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้มีการกล่าวถึงสิทธิของประชาชนชัดเจน รวมทั้งความเสมอภาคระหว่างเพศ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทุกภาคส่วนทั้งหญิงชายมีสิทธิและส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และ สิทธิเสรีภาพหายไป บางส่วนย้ายไปอยู่กับหน้าที่รัฐต้องย้ายกลับไปหมวดสิทธิ และบททั่วไป ที่สำคัญคือสิทธิและความเสมอภาคต้องดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 รวมทั้งบางเรื่องที่ร่างฉบับนายบวรศักดิ์เสนอไว้ คือไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศสภาพ และกำหนดสัดส่วนทางการเมืองในบัญชีรายชื่อของพรรคต้องมีเพศใดเพศหนึ่งอย่างน้อย1ใน 3  

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว รองโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าถอยหลังเข้าคลอง เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้ราชการเป็นใหญ่ ทั้งที่ผ่านมาปัญหาหลักของประเทศไม่เพียงการทุจริตคอรัปชั่นแต่ยังมีปปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย รัฐธรรมนูญจึงควรเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ จับต้องได้ โดยเฉพาะการรับรองสิทธิในการศึกษาและสวัสดิการจำเป็นอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะระบบบำนาญสำหรับประชาชนทุกคนเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี การปฏิรูปบริการสาธารณสุขให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้มีระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับเท่านั้นจึงจะสามารถก้าวข้ามควมขัดแย้งที่เป็นอยู่ได้ ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนกลุ่มต่างๆให้มากที่สุด

ด้าน นางสาวพรวจี ปะนะที อาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงกับการพัฒนาชนบท กล่าวว่า ได้ร่วมในเวทีรับฟังของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเวทีแรกที่เชียงใหม่ แต่มีการบรรยายทั้งวัน วันที่สองค่อยให้ประชาชนเสนอความเห็น มีเวลาน้อยมาก ประเด็นเสมอภาคระหว่างเพศแทบไม่มีโอกาสเลยและสิทธิขั้นพื้นฐานหายไป รัฐมีอำนาจเพิ่มขึ้นรัฐเป็นใหญ่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนจะต้องทำอะไร ณ วันนี้ภาคประชาชนจึงต้องมีการเคลื่อนไหว สร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

"พวกเราต้องการให้ อ.มีชัย รับฟังและปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอของทุกองค์กรด้วย"

นายศิวากร ทองชัยเดช นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมาก เราไม่สามารถมีสิทธิออกเสียงได้อย่างเต็มที่ ร่างฯ ฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของชาติมากกว่า เป็นรูปแบบของประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์

"ประชาชนส่วนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นคนทำมาหากิน ดังนั้นทุกเครือข่ายต้องสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิของเขาและสิทธิในการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เดิมให้ศึกษาฟรี สิบสองปี แต่ร่างนี้ให้แค่การศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแย่กว่าเดิม” นายศิวากร กล่าว