ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชี้ผู้ป่วยโรคลมชักมากกว่าร้อยละ 75 สามารถรักษาให้หายชักและใช้ชีวิตเช่นคนปกติ แนะวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักที่ถูกต้องก่อนนำส่งแพทย์

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชัก เกิดจากสมองที่ผลิตกระแสไฟฟ้า (คลื่นสมอง) ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เกร็งกระตุกเหม่อลอย ทำอะไรไม่รู้ตัว เป็นต้น เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง เนื้อสมองผิดปกติแต่กำเนิด บาดเจ็บของสมองจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม การได้รับสารพิษต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของโรคลมชักยังไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการชักบ่อย จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุขณะชัก มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เนื่องจากต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้ โรคลมชักจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก อุบัติการณ์ประมาณ 20-50 ต่อแสนประชากร ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยเด็ก ถึงวัยรุ่น ผู้ป่วยโรคลมชักมีการเสียชีวิตก่อนอายุขัยมากกว่าคนทั่วไป 2-6 เท่า

โดยในปี 2557 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้รายงานว่า โรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรงได้บ่อยมากที่สุดและมีผลต่อทุกอายุและโรคลมชักเป็นภาระของโลกที่ต้องการความร่วมมือระดับประเทศเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และความรู้ในระดับสาธารณะ และหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม มากกว่า 75% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักสามารถมีชีวิตเช่นคนปกติปราศจากอาการชัก

อย่างไรก็ตามยังพบว่า 90% ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลกที่อาจจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องหรือเพียงพอ และข้อมูลสถาบันประสาทวิทยาปี พ.ศ.2555 พบว่าในประเทศไทย 57% ยังมีปัญหาในการเข้าถึงของผู้ป่วยโรคลมชักในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันเฉพาะทางด้านระบบประสาท จึงได้จัดตั้งศูนย์โรคลมชัก เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก วิจัย ถ่ายทอดวิชาการ สร้างเครือข่าย เป็นศูนย์รับ-ส่งต่อระดับตติยภูมิเป็นแหล่งอ้างอิงและนำเสนอนโยบายด้านโรคลมชักของประเทศ ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยาเป็นศูนย์ผ่าตัดโรคลมชักระดับสูง 1 ใน 5 ศูนย์ของประเทศไทย มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคลมชักที่ดื้อยาและซับซ้อนโดยการผ่าตัด มีผลงานการวิจัยและหลักสูตรถ่ายทอดวิชาการด้านโรคลมชัก เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านโรคลมชัก (International League Against Epilepsy) ได้กำหนดวันลมชักโลก (International Epilepsy Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยกำหนดให้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สถาบันประสาทวิทยาจึงร่วมกับสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย และสถาบันต่างๆในประเทศไทยที่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคลมชัก จัดงานวันลมชักโลกทั่วประเทศในช่วงเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแนวทางในการดูแลรักษาและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคลมชักแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน

นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมชักควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการชัก ได้แก่ การอดนอน ดื่มเหล้า ภาวะเครียด การขาดยากันชัก 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตรายระหว่างมีอาการชัก เช่น ขับขี่รถยนต์ ว่ายน้ำ ปีนป่ายที่สูง การทำงาน กับเครื่องจักร 3.รับประทานยากันชักสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ไม่หยุดยากะทันหันเพราะอาจเกิดอาการชักรุนแรงได้ สำหรับเด็กวัยเรียนสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ แต่ผู้ปกครองควรแจ้งครูให้ทราบถึงการรับประทานยา และกิจกรรมที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขณะชัก สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นโรคลมชักสามารถแต่งงานมีบุตรได้แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เพื่อการปรับยากันชักที่เหมาะสมและการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อแม่และลูกในครรภ์

ทั้งนี้ ผู้ใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อน หรือ ครู ควรจะทำความเข้าใจกับโรคลมชักเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยโรคลมชักได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงควรรู้จักการช่วยเหลือผู้ป่วยขณะเกิดอาการชัก คือ รีบจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ไห้สำลักเศษอาหารเข้าปอด ปลดเสื้อผ้าไม่ไห้แน่นเกินไป จัดการสถานที่ให้โปร่งโล่ง หายใจได้สะดวก ไม่เอาสิ่งของใดๆ ใส่ปากเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้น เพราะทำอันตรายให้กับผู้ป่วยมากกว่า หลังจากนั้นรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ทั้งนี้ อาการชักส่วนใหญ่นานไม่เกิน 2 นาที กรณีชักนานควรนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ปัจจุบันการช่วยเหลือผู้ป่วยชักควรให้หยุดชักภายใน 5 นาที มิฉะนั้น จะมีโอกาสชักรุนแรงขึ้นจนทำลายสมองได้