ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งคัดกรองโรคไตเรื้อรัง พร้อมเปิดคลินิกชะลอไตเสื่อมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยใน 5 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 2 ตั้งเป้าคัดกรองโรคไตเรื้อรังในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป 1 ล้านคน ภายในพฤษภาคมนี้ เน้นค้นพบเร็ว รักษาเร็ว ถูกจุด พร้อมเปิดคลินิกชะลอไตเสื่อมเต็มพื้นที่ แนะ 5 ข้อควรปฏิบัติชะลอไตเสื่อม ยืดอายุไตให้นาน คือ ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน รวมทั้งงดเหล้า บุหรี่

          

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จ.พิษณุโลก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดการรณรงค์คัดกรองโรคไตและมอบสื่อประชาสัมพันธ์ต้นแบบ 5 ข้อ ปฏิบัติชะลอไตเสื่อม ให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 2

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คนไทยเกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน ซึ่งมีสาเหตุจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย รัฐบาลรับผิดชอบค่ารักษาปีละกว่า 10,000 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญ มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD Clinic) ดูแลผู้ป่วยโรคไตแบบครบวงจรจากทีมสหวิชาชีพ ช่วยยืดเวลาการเสื่อมของไต ด้วยการคัดกรองประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยงของโรคไต พบเร็ว รักษาเร็ว จะลดการป่วยและเสียชีวิต พร้อมมี 5 ข้อ ปฏิบัติชะลอไตเสื่อม คือ 1.ดื่มน้ำมากๆ 2.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน 3.งดเหล้า บุหรี่ 4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน

สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ มีกลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ปีขึ้นไปกว่า 1 ล้านคน คาดว่าจะตรวจคัดกรองครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จะตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะเพื่อให้ทราบระยะของการป่วย และเตรียมบุคลากรในการดูแลรักษาทันที เป็นการรักษาถูกจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระยะที่ 1-2 จะเน้นดูแลใกล้บ้าน ด้วยทีมหมอครอบครัวจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากเป็นระยะที่ 3 ขึ้นไป จะเข้ารับการรักษาโดยคลินิกชะลอไตเสื่อมที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเขตสุขภาพที่ 2 มีคลินิกชะลอไตเสื่อมครอบคลุมเต็มพื้นที่แล้ว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ ไม่ต้องเดินทางไปรักษาโรงพยาบาลในเมือง