ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่าย รพ.สต. ชวส. ชมรม ผอ.รพ.สต.เดินหน้าปฏิรูป รพ.สต.ต่อเนื่อง ทั้งการร่วมประชุมแก้ระเบียบเงินบำรุง รพ.สต. การแก้กฎกระทรวงเพื่อรองรับ รพ.สต. การเข้าร่วมเวทีปฏิรูปสาธารณสุข พร้อมหนุนแนวทางสหกรณ์สุขภาพของ สคสท. เสนอใช้รูปแบบ primary care cluster แทนรูปแบบเดิม และส่งเสริมความก้าวหน้าของหมออนามัย ไม่ให้เป็นชนชั้นที่ถูกลืม

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. และผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 9-11 ก.พ.ที่ผ่านมา ชมรม ผอ.รพ.สต.และเครือข่ายยังคงเดินหน้าหนุนปฏิรูป รพ.สต.อย่างต่อเนื่อง เช่น เข้าร่วมประชุมแก้ระเบียบเงินบำรุง รพ.สต.เข้าร่วมประชุมแก้กฏกระทรวงรองรับ รพ.สต. เข้าร่วมเวทีปฏิรูปด้านสาธารณสุขรองรับปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมประชุมเครือข่าย สคสท. เดินหน้าหนุนสหกรณ์สุขภาพ

นายริซกี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในเวทีปฏิรูปด้านสาธารณสุข ตนได้เข้าร่วมระดมสมองในห้องการปฏิรูปการเงินการคลังซึ่งจะเน้นแนวทาง SAFE คือ S = sustainable ความยั่งยืน A = adequacy ความพอเพียง F = fairness ความเป็นธรรม E = efficiency ความคุ้มค่า ซึ่งในฐานะตัวแทน รพ.สต.สนับสนุนแนวทางดังกล่าว และได้เสนอแนวทางปฏิรูป รพ.สต.เพิ่มเติมดังนี้

1. ความเป็นธรรม (F) พัฒนาระบบการจัดสรรงบประมาณและค่าตอบแทนให้ลง รพ.สต.โดยตรง (แยกระบบจัดสรรเป็นแบบ primary และแบบ hospital) เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า งานทุกงาน นโยบายทุกนโยบายได้ลงมายัง รพ.สต. แต่งบประมาณกลับให้ รพ.หรือท้องถิ่นบริหารจัดการแทน ทำให้ รพ.สต.ขาดขวัญกำลังใจ เนื่องจากมีบุคลากรน้อย และต้องทำงานท่ามกลางความขาดแคลน

2. ความยั่งยืน (S) ในการเติมเงินเข้าสู่ระบบ แนะให้ลงทุนเรื่องแพทย์แผนไทย โดยจัดสรรงบลงใน รพ.สต. เพราะจะช่วยลดเรื่องยาแผนปัจจุบัน ลดความแออัดใน รพ. ลดการใช้ยาเกินจำเป็น และเพิ่มรายได้ให้ รพ.สต.ด้วย

3. ความคุ้มค่า (E) และความพอเพียง (A)เสนอแนวทางสหกรณ์สุขภาพตามแนวทางของ สคสท. โดยมีแนวทางการจูงใจให้ดูแลตนเอง และลดการใช้บริการที่ไม่จำเป็น (มีแต้มสะสม แปลงเป็นงบประมาณได้ มีปันผลคืนแก่ประชาชนที่ดูแลสุขภาพตนเองได้ดี) (ซึ่งที่ประชุมแจ้งว่า เป็นรูปแบบคล้าย medisafe ตามแนวทางสิงค์โปร์)

4. ให้มีตัวแทน รพ.สต. ในคณะกรรมการทุกระดับ เช่น คณะกรรมการระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข 7×7 และ 5×5 ควรมีตัวแทน รพ.สต.อยู่ด้วย เพื่อให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ รพ.สต.ทุกเรื่อง ถูกนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง เนื่องจากพบว่าหลายนโยบาย หลายคำสั่ง หลายงบประมาณ ที่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับ รพ.สต. กลับไม่ถูกจัดสรรลง รพ.อย่างที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างงบ Hardship ที่กันไว้ในระดับเขต และในประกาศ สปสช. ปี 2559 ได้ระบุให้ใช้ช่วยเหลือ รพ./รพ.สต.ที่มีประชากรน้อย เสี่ยงภัย กันดาร แต่ในทางปฏิบัติ รพ.สต.ไม่เคยได้รับจัดสรรงบเหล่านี้เลย แต่ในหลักเกณฑ์ระดับเขตกลับจัดสรรให้ รพ.ที่เขตเลือกขึ้นมาเท่านั้น โดยจัดสรรให้ปีละหลายสิบล้านบาทต่อแห่ง

ส่วนในเรื่องกำลังคน และระบบบริการ มีการพูดถึง 1.การอภิบาลระบบ 2.การปฏิรูปการผลิตกำลังคน 3.การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพกำลังคนด้านสุขภาพ โดยชมรม ผอ.รพ.สต.และเครือข่ายได้เสนอให้มีการวางแนวทางที่สอดคล้องเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ สามารถจูงใจให้คนอยู่ในระบบ โดยการเติม คน เงิน ของ ทั้งนี้ไม่ควรละเลยในระดับปฐมภูมิ คือ รพ.สต. โดยมีการเสนอใช้รูปแบบ primary care cluster แทนรูปแบบเดิม และส่งเสริมความก้าวหน้าของหมออนามัย ไม่ให้เป็นชนชั้นที่ถูกลืมดังเช่นปัจจุบัน ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรารภต่อแกนนำชมรม ผอ.รพ.สต.และเครือข่ายว่าจะจัดเวทีให้หมออนามัยได้ตกผลึกร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหาใน รพ.สต.ที่หมักหมมมายาวนาน ให้ถูกแก้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย

นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) กล่าวว่า สคสท.หนุนแนวทางปฏิรูป รพ.สต ตามแนวทางหมื่นแห่ง หมื่นล้าน หมื่นคน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และหนุนแนวทางปฏิรูปด้านสาธารณสุข โดยใช้สหกรณ์สุขภาพ ซึ่ง สคสท.จะยื่นเสนอระดับนโยบายในโอกาสต่อไป ในส่วนการประชุมคณะทำงาน สคสท.ได้หารือกรณีสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญ สคสท.ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ "THE 6TH ASIA-PACIFIC CONFERENCE ON PUBLIC HEALTH (APCPH) และ "1ST ASEAN HEALTH PROMOTION CONFERENCE" ในช่วงปลายปีนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถจัดการสุขภาพประชาชนในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายแนวคิดสหกรณ์สุขภาพให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย

ซึ่ง สคสท.จะนำเสนอแนวคิดเชิงวิชาการ หัวข้อเรื่อง "ประเทศไทยต้องมีสหกรณ์สุขภาพ" พร้อมชูพื้นที่ต้นแบบทั้ง 4 ภาคที่ได้ลงไปศึกษาดูงานมาแล้วด้วย ทั้งนี้ สคสท.จะเร่งดำเนินการออกแบบ Model และโครงสร้างของสหกรณ์สุขภาพ Theme: Innovative Primary Health Care for Sustainable Development และ Alliance for health and sustainable development สคสท.ได้วางกรอบในการมองเรื่องคนกับสุขภาพ และศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่ทำเรื่องสหกรณ์สุขภาพเพื่อนำมาพัฒนาเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

เครือข่าย รพ.สต.14 องค์กร ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อผลักดันปฏิรูป รพ.สต.เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ผลจากการยื่นหนังสือในครั้งนี้ได้รับการตอ­บรับในระดับหนึ่ง โดยมีข้อเรียกร้องออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. การเสนอนโยบาย กฏหมายที่สามารถยกระดับ รพ.สต. และมาตรฐานบริการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริการประชาชน 50 กว่าล้านคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานระดับนโยบาย

2. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพดานเงินเดือนข้าร­าชการพลเรือน และการแก้ไขข้อระเบียบที่ขัดต่อการขึ้นระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ก.พ.

3. โครงสร้าง รพ.สต. ความก้าวหน้า/ค่าตอบแทนของบุคลากรใน รพ.สต.และนักสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับ สธ.โดยตรง