ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.เสนอ 2 ทางเลือก หากการปฏิรูปไม่เดินหน้า 1.แยกตัวจาก ก.พ.แต่ต้องปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ สธ.ใหม่ ให้เป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพ หรือ 2.แยกตัวออกไปรวมกับ อปท.ภายใต้ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ เพื่อการบริหารจัดการ คน เงิน ของ อย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ 2 แนวทางนี้จะเกิดขึ้นแน่ หาก ก.พ.และ สธ.ไม่เห็นความสำคัญการปฏิรูป รพ.สต.

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ประเทศไทย กล่าวว่า การปฏิรูป รพ.สต. จะต้องเกิดขึ้นในยุคนี้ ตามแนวทางของชมรม ผอ.รพ.สต. ซึ่งขณะนี้ สธ.ให้ชมรม ผอ.รพ.สต.เข้าไปมีส่วนร่วมร่วมในการแก้ไขกฏระเบียบหลายอย่างที่ขัดขวางการปฏิรูป รพ.สต. เช่น การแก้ระเบียบเงินบำรุงให้สอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบัน การให้มี รพ.สต.บรรจุในกฏกระทรวง การรับนโยบายโครงสร้าง รพ.สต.ไปพิจารณาตามที่ชมรมได้นำเสนอ และการนำข้อเสนอจากคน รพ.สต. ในเวทีปฏิรูปด้านสาธารณสุข ไปสู่ระดับนโยบายประเทศต่อไป

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากการปฏิรูป รพ.สต. ต้องอาศัยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ก.พ. และ สธ.เอง ตนไม่อยากให้การปฏิรูป รพ.สต.ในครั้งนี้ เป็นแค่ยาหอม ที่มีการขยับแค่บางส่วนเพื่อลดกระแสเท่านั้น ซึ่งหากการปฏิรูป รพ.สต.ไม่เกิดขึ้นจริง นั่นคือจะชี้ถึงอนาคตของ รพ.สต. เป็นจุดเปลี่ยนที่หมออนามัยและคน รพ.สต.จำเป็นต้องเลือก ซึ่งในเฟสบุ๊คชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) และกลุ่มไลน์ชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) และเครือข่ายตนได้ระดมสมองสมาชิกชมรม รพ.สต.ทั่วประเทศ ถึงทางเลือกดังกล่าว ดังนี้

1.แยกตัวจาก ก.พ.โดยแยกตัวออกมาเป็นข้าราชการ สธ.โดยเฉพาะ ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.... ซึ่งแนวทางนี้จะต้องมีสัดส่วนวิชาชีพสาธารณสุขร่วมเป็นคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (ก.สธ.) ด้วย เนื่องจากร่างเดิม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อบางวิชาชีพเกินไป ทำให้สัดส่วน ก.สธ.มีสัดส่วนวิชาชีพต่างๆ ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ควรมีผู้แทนวิชาชีพต่างๆ ที่เหมาะสมด้วย โดยนักสาธารณสุขจะไม่เป็นเบี้ยล่างของวิชาชีพอื่น มิฉะนั้นหากการออกจาก ก.พ.ยังเป็นไปตามร่างเดิม อาจกลายเป็นการ "หนีเสือ ปะจระเข้" และวนเวียนอยู่ในชนชั้นวิชาชีพฯ เหมือนเดิม

2.แยกตัวออกไปรวมกับท้องถิ่นในสังกัด อปท.ภายใต้ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ซึ่ง รพ.สต.หมื่นกว่าแห่งจะรวม อสม.15 ล้านคนไปด้วย โดย รพ.สต.จะออกไปเป็นพวงใหญ่ระดับจังหวัด/อำเภอ ที่เกาะกุมกันอยู่ ไปขึ้นกับท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.) เนื่องจากปัจจุบันพบว่างบประมาณ คนเงินของ ยังไม่ถึงปฐมภูมิอย่างแท้จริง แม้ในประกาศ สปสช. จะระบุถึงปฐมภูมิ หรือ รพ.สต. แต่คู่สัญญาปฐมภูมิของ สปสช. กลับกลายเป็น รพช.แทนที่จะเป็น รพ.สต. ทั้งๆ ที่สุดท้ายคนที่ทำงานก็คือคน รพ.สต.

นอกจากนี้งบประมาณในการทำงานแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ สปสช.มักโอนลงผ่านท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ รพ.สต.เกิดความลักลั่นว่าจะทำงานอย่างไร ในเมื่อการบริการจัดการ คนเงินของ อยู่ในมือ รพช./ท้องถิ่นแทน เพราะฉะนั้น หาก รพ.สต.โอนไปสังกัดท้องถิ่น โดยที่รัฐจัดสรรงบรายหัวด้านส่งเสริมสุขภาพลงไปที่ท้องถิ่นแทน พร้อมทั้งเงินเดือนและงบอื่นๆ ก็จะทำให้มีบริหารจัดการง่ายขึ้น เนื่องจากงบอยู่ที่ท้องถิ่นอยู่แล้ว รพ.สต.ก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สมาชิกกำลังให้ความเห็นกันอย่างคึกคัก ตนมองว่า 2 แนวทางนี้จะเกิดหาก ก.พ.และ สธ.ไม่เห็นความสำคัญของ "รพ.สต." และไม่ตอบรับการปฏิรูป รพ.สต. ชมรม ผอ.รพ.สต.และเครือข่ายจะนำพาสมาชิกเดินไปสู่จุดนั้นต่อไปในอนาคต