ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต. แจง “หมอสมศักดิ์” เหตุแขวนป้ายหน้า รพ.สต.เรียกร้องลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หวั่นหากเพิ่มฐานล่างแต่ไม่ขยับฐานบน ขณะที่งบจ่ายค่าตอบแทนมีจำกัด เชื่อ 3 พันล้านบาทไม่พอ ระบุแนวโน้ม สธ.ของบเพิ่มยาก ห่วงแก้ปัญหาไม่ได้ เบื้องต้นตั้งเป้าปรับค่าตอบแทน รพ.สต.เพิ่ม 2 เท่า พร้อมเตรียมทำความเข้าใจ “หมอสมศักดิ์” 8 มี.ค.นี้

ภายหลังจากที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ โดยระบุถึงความข้องใจกรณีชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) ได้แขวนป้ายหน้า รพ.สต.เพื่อเรียกร้องผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน ทั้งที่ได้เข้าร่วมประชุมกับ สธ.และตัวแทนวิชาชีพในสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา และทราบถึงการดำเนินงานที่อยู่ระหว่างแก้ปัญหานั้น

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. และผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในการประชุมที่ผ่านมามีการพูดคุยถึงเรื่องอัตราค่าตอบแทนของเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีวุฒิปริญญาตรีเท่านั้นที่มีความชัดเจน แต่ในส่วนของค่าตอบแทนฉบับใหม่ ปี 2560 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ยังไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งการกำหนดระยะเวลาการจัดทำร่างค่าตอบแทนที่จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ รวมถึงการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อทำในเรื่องนี้ เพิ่งทราบจากสื่อในวันนี้เอง (4 มี.ค.)

ทั้งนี้การที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 26 ก.พ.แต่ไม่ได้พูดคุยกับ นพ.สมศักดิ์ ให้ทราบถึง รพ.สต.เตรียมที่จะแขวนป้าย 1 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเป็นเพียงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่วางไว้ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการระบุถึงroadmap การปรับค่าตอบแทนที่ชัดเจน ทราบแค่หลักการปรับค่าตอบแทนที่จะขยับเพียงฐานล่าง แต่ไม่ขยับฐานบน ซึ่งชมรมฯ มองว่าหากทำได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง แต่เกรงว่าด้วยงบประมาณที่มีจำกัดเพียง 3,000 ล้านบาทจะไม่เพียงพอ ตรงนี้จะทำอย่างไร และการจะไปขอเพิ่มจากรัฐบาลจะเป็นไปได้หรือไม่ จะใช้หลักการและเหตุผลใด

ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะมีการผลักดันให้เกิดพลังตรงนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกวิชาชีพไม่เฉพาะวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น ที่ผ่านมาการเพิ่มค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ฉบับ 1-9 ที่ผ่านมาหมออนามัยมักจะได้รับยาหอมว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นธรรมมาตลอด สุดท้ายยิ่งปรับ ยิ่งเหลื่อมล้ำดังเช่นปัจจุบัน

ยกตัวอย่างการอนุมัติงบประมาณค่าตอบแทนในปี 2558 ที่มีการพิจารณาหลักเกณฑ์เสร็จสิ้นล่าช้ามาก สุดท้ายหลักเกณฑ์ ฉ.8 ออกมาตอนเกือบปลายปีแล้ว ตอนนั้นไม่ว่า ฉ.8 จะเป็นอย่างไรทุกคนต่างจำใจรับได้หมด ถึงแม้จะยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ก็ตาม เพราะเป็นงบค้างจ่ายที่ต่างรอเบิกมานานจนถึงปลายปีแล้ว และในปี 2559 ก็ยังคงมีการใช้หลักเกณฑ์เดิมกับปี 2558 ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพอยู่เช่นเดิม

“ในหลักการที่จะไม่ขยับลดฐานบน แต่ขยับเพิ่มฐานล่าง ถ้าทำได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ สธ.ต้องของบประมาณเพิ่ม ซึ่งเรามองว่าโอกาสที่จะงบเพิ่มนั้นน้อยมาก ไม่รู้ว่าจะต้องของบอีกเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ และรัฐบาลชุดนี้จะยอมหรือไม่ ซึ่งท้ายสุดคำตอบจะกลับมาเหมือนเดิมคือแก้ค่าตอบแทนไม่ได้ หมออนามัยจึงต้องออกมากระทุ้งเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และให้วางแผนบริหารจัดการให้เท่าเทียมทุกวิชาชีพกรณีมีงบค่าตอบแทนเท่าเดิม” ผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต กล่าว

ทั้งนี้ในวันอังคารที่ 8 มี.ค. นี้ นพ.สมศักดิ์ได้นัดให้มีการพูดคุยถึงการออกหนังสือเวียนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเรื่องค่าตอบแทนเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีวุฒิปริญญาตรีที่ต้องการให้สาธารณสุขอำเภอ/ผอ.รพ.ทั่วประเทศ ทำคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และการปรับตำแหน่งเข้าสู่ นวก.ยังมีจำกัด ซึ่งคงได้มีการคุยถึงเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขภาพรวมด้วย

ต่อข้อซักถามว่า หลังจากที่มีการแขวนป้าย รพ.สต.แล้ว จะเดินหน้าอย่างไร นายริซกี กล่าวต่อว่า เราอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยชมรม ผอ.รพ.สต.วางหลักเกณฑ์การเพิ่มค่าตอบแทนเบื้องต้นไว้หลังจากทีมงานได้หารือกันถึงภาระงาน อัตรากำลัง และความยากลำบากในการปฏิบัติงานในพื้นที่ และตัวชี้วัดหลายร้อยตัว จากเก้ากรมกองของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ต้องปรับเพิ่มจากเดิม 2 เท่า โดยในระดับค่าตอบแทนต่ำสุด 600-900 บาท ต้องปรับเพิ่มเป็น 1,200-1,500-1,800 บาท และในวุฒิปริญญาตรีจาก1,200-1,800 ปรับเป็น 2,500-3,000-3,500 ในอายุราชการ 1-3 ปี 4-9 ปี และ 10 ปีขึ้นไปตามลำดับ และขอให้ได้รับเทียบเคียงเท่ากับพยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งมีวุฒิปริญญาตรีเช่นเดียวกัน

นายริซกี กล่าวว่า การเพิ่มค่าตอบแทนในอัตราที่เสนอนี้ มองว่าเป็นจำนวนที่ไม่สูงไป ขณะที่นิยามพื้นที่กันดารต้องรวม รพ.สต.ด้วย และครอบคลุมทุกวิชาชีพด้วย และค่าตอบแทนต้องมีการปรับตามระดับพื้นที่กันดารและปรับตามอายุราชการเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น อย่างไรก็ตามเรื่องค่าตอบแทนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ไม่ได้เพิ่งเกิดในผู้บริหารยุคนี้ เพียงแต่ในยุครัฐบาล คสช.และผู้บริหาร สธ.ชุดนี้ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นทุกวิชาชีพ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดี และทำให้หมออนามัยเริ่มเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ขึ้นมาบ้าง ชมรม ผอ.รพ.สต.จึงต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนซึ่งเป็นหนึ่งในการปฏิรูป รพ.สต.ตามเป้าหมายที่วางไว้เมื่อ 29 ม.ค.59