ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ปรับระบบการบริหารจัดการ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ทั้งในเรื่อง นิยามผู้ป่วยวิกฤตสีแดงที่ชัดเจน มีระบบเบิกจ่ายที่เหมาะสม ตามราคากลางค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) ที่ทุกส่วนมีความพอใจ รวมทั้งการดำเนินการหลัง 72 ชั่วโมงพ้นวิกฤตที่ต้องหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ พร้อมประกาศใช้ก่อนสงกรานต์ปี 2559

วันนี้ (16 มีนาคม 2559) ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 6 /2559 โดยผู้แทน 3 กองทุน และโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมประชุมด้วย ในวันนี้ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ที่มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข สพฉ.และผู้แทนจาก 3 กองทุน หารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อปรับระบบให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ที่ยึดหลัก การช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่ถือว่าเป็นนโยบายเพื่อสังคม(CSR) ที่ผ่านมาการดำเนินงานอาจมีข้อติดขัดบางประการ ทั้งในเรื่องนิยามผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน การเบิกจ่ายเงินและการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้  กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกัน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 เรื่องทิศทางการขับเคลื่อนนโยบาย  9 มีนาคม 2559 หารือเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กับผู้แทนจาก 3 กองทุน ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 หารือเรื่องแนวทางการดำเนินงานเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ ร่วมกับผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง

โดยจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ ทั้งในเรื่องการคัดแยกผู้ป่วยวิกฤตสีแดงตาม 25 กลุ่มอาการที่เห็นตรงกันทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วย โดยหากมีข้อสงสัยจะมีหน่วยงานกลางคือ สพฉ.เป็นที่ปรึกษาและให้ความเห็นภายใน 15 นาที 

ส่วนในเรื่องรูปแบบการเบิกจ่ายเงินนั้น เห็นด้วยกับการจ่ายแบบราคากลางค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) ให้มีการปรับราคากลางที่ทุกส่วนมีความพอใจ 

สำหรับการดำเนินการหลัง 72 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยพ้นวิกฤตที่ต้องหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ กองทุนประกันสังคมใช้โรงพยาบาลต้นสังกัด กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจะได้กำหนดระเบียบขึ้นมารองรับ เช่น ให้อยู่โรงพยาบาลเดิมต่อไป โดยกำหนดอัตราการเบิกจ่าย ส่วนต่างผู้ป่วยจ่ายเพิ่มเอง ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้โรงพยาบาลต้นสังกัดและเพิ่มการจัดการเรื่องศูนย์สำรองเตียง

“ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประสานทำความตกลงกับ 3 กองทุนและโรงพยาบาลเอกชน ให้ได้ข้อตกลงภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อประกาศใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 นี้ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเตรียมระบบรองรับ ทำงานเชิงรุกโดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานบริการประชาชน ให้มีความสะดวกรวดเร็ว” นพ.ปิยะสกล กล่าว