ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ มข. ชวนประชาชนโหลด App Stroke Fast Track ช่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทันเวลา พ้นภาวะอัมพาตได้ หลังคณะแพทย์ มข.-มหาวิทยาลัยขอนแก่น-สปสช.หนุน “กลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดอีสานและ ทีมสุขภาพ รพ.ศรีนครินทร์ ร่วมพัฒนา เผยแค่ลงทะเบียน กดปุ่มครั้งเดียวส่งข้อมูล1669 ได้ ทั้งค้นประวัติและแจ้งพิกัดผู้ป่วย พร้อมประสานนำส่ง รพ. รับการรักษาในเวลาจำกัดได้ ระบุปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 17,000 ครั้ง ติด 1 ใน 3 แอปพลิเคชั่นสุขภาพ เตรียมต่อยอดดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน   

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมีโอกาสหายถึงร้อยละ 50 หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 270 นาที หรือประมาณ 4 ชั่วโมง ยิ่งได้รับยาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่มาทันเวลาเพียงแค่ร้อยละ 12 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด และในจำนวนนี้ผู้ป่วยที่มาทันเวลามีเพียงแค่ร้อยละ 3.8 เท่านั้นที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าโรคหลอดเลือดสมองคืออะไร มีอาการบ่งชี้อย่างไร ขณะเดียวกันคนไทยยังรู้จัก 1669 น้อยมาก เป็นเหตุให้การนำส่งผู้ป่วยล่าช้า

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ “กลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และ “ทีมสุขภาพโรงพยาบาลศรีนครินทร์” จึงได้พัฒนา“แอปสโตรคฟาส์ต์แทรค” (App Stroke Fast Track) ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองกับประชาชนทั่วไป ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และ แอนดรอยด์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 เนื่องใน “วันอัมพาตโลก”

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า App Stroke Fast Track จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ส่วนการให้ความรู้ โดยมีบทความต่างๆ เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปอ่านได้ 2.ส่วนคัดกรองสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 3.ส่วนการลงทะเบียนแจ้งข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ โรคประจำตัว แพ้ยา และเบอร์โทร รวมถึงชื่อญาติและเบอร์ติดต่อได้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลแสดงไปยังศูนย์ข้อมูลของสภาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) หรือ 1669 ซึ่งสามารถกดเรียกด้วยเพียงปุ่มเดียวกรณีฉุกเฉินต้องได้รับความช่วยเหลือได้

“ส่วนนี้มีประโยชน์มาก ในกรณีที่เราไม่สบายหนัก อย่างเกิดภาวะหลอดเลือดสมองที่อาจพูดไม่ได้ ขยับตัวได้ยาก เพียงแค่กดปุ่มเดียว ข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือทั้งหมดรวมถึงพิกัดของผู้ป่วยจะไปปรากฎที่ 1669 โดย สพฉ.จะทำการประสานไปยังหน่วยพยาบาลฉุกเฉินเพื่อทำการช่วยเหลือโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้เรียกผ่านระบบนี้แล้วเฉลี่ยวันละ 1-3 ครั้ง” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

สำหรับส่วนที่ 4.การให้ข้อมูลหน่วยบริการในจังหวัดต่างๆ พร้อมที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ในกรณีที่ต้องเดินทางและเกิดภาวะฉุกเฉินเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีหน่วยบริการใดบ้างที่สามารถให้บริการโรคหลอดเลือดสมองได้

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเปิดตัว App Stroke Fast Track อย่างเป็นทางการ ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าชมถึง 8 ล้านครั้งแล้ว (ดู ที่นี่) แต่ในส่วนของ App Stroke Fast Track หลังการเปิดตัวจนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน ยังมีผู้ดาวน์โหลดเพียง 17,000 ครั้งเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากเราต้องการให้คนไทยโหลดแอปนี้ไว้ใช้มากๆ ซึ่งไม่จำเป็นใช้กับตนเองเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อเรียกขอความช่วยเหลือผู้อื่นได้  

ทั้งนี้ App Stroke Fast Track ยังติด 1 ใน 3 ของแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพที่มีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุด และในอนาคตจะมีการขยายให้ครอบคลุมไปยังโรคอื่นๆ อย่างโรคหัวใจหลอดเลือด ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาให้มีส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยสามารถใช้ได้

“ขณะนี้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถรับการรักษาได้หมด แม้ว่าจะมีค่ารักษาสูงถึง 70,000 บาท เนื่องจากมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากผู้ป่วยไม่สามารถมารับการรักษาได้ทันเวลา และ App Stroke Fast Track ที่ได้ร่วมกันพัฒนานี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้รับการรักษาโดยเร็วได้” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว