ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพศท.เผยอุปสรรคดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งปัญหาขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ใน รพศ./รพท. และ รพช. ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน เหตุมีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่จริงเข้ารักษา ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงได้รักษาล่าช้า แถมเจอปัญหาญาติไม่เข้าใจระบบ ไม่พอใจความล่าช้า ก่อพฤติกรรมรุนแรงคุกคามการปฏิบัติงาน เผย “หมอประนอม” รองปลัด สธ.รับปากตั้งคณะทำงานแก้แออัดและปัญหารุนแรงในห้องฉุกเฉินแล้ว

www.thaihospital.org เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 รายงานว่า นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวภายหลังงานสัมมนาภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล ที่ สพศท.และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัด ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันที่18 มีนาคม 2559 ว่า ห้องฉุกเฉิน คือ หน่วยปฏิบัติการประเมิน จัดการ บำบัดรักษาดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตและการทำงานของอวัยวะที่สำคัญ

แต่ในปัจจุบันพบอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินหลายประการ เช่น การขาดแคลนบุคลากร พบว่า โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มีทั้งหมด 116 แห่ง ยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 20 กว่าแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 800 กว่าแห่ง มีการขาดแคลนรุนแรงมากว่า และอยู่ในช่วงการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น

ความแออัดของผู้ป่วย เป็นอุปสรรคอีกประการในการให้การบริบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากผู้ป่วยซึ่งเจ็บป่วยจริงแต่ไม่ฉุกเฉิน เข้าร่วมรับการตรวจรักษาในห้องฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงได้รับการบริบาลที่ล่าช้า เกิดการเสียชีวิต เสียอวัยวะโดยไม่สมควร ส่วนญาติไม่เข้าใจในระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่พึงพอใจในความล่าช้า จะมีพฤติกรรมความรุนแรง เช่น เตะ ต่อย ถ่มน้ำลาย ใช้อาวุธ หรือ การใช้วาจาข่มขู่ ด่าทอ รวมทั้งเผยแพร่ข้อความ รูปภาพผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่คุกคามต่อการปฏิบัติงานของบุคคลากรในห้องฉุกเฉิน

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวเพิ่มว่า เวทีสัมมนาครั้งนี้ได้เสนอแนวทางบรรเทาปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน เช่น จัดห้องฉุกเฉินให้มีบริเวณที่กว้างขว้าง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จะยิ่งดี มีปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน มีทางเข้าออกหลายทางเพื่อให้บุคลากรหนีเหตุร้ายได้สะดวก และที่สำคัญควรมีประกันชีวิตให้แก่บุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องไปกับรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่ง พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ.รับปากตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาความแออัดและความรุนแรงในห้องฉุกเฉิน

ขอบคุณข่าวจาก : www.thaihospital.org