ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จัดอบรม “การป้องกันและปราบปรามทุจริตและการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ” เชิญ “ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.” ชี้แนะแนวทางป้องกันการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อน เดินหน้าบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” อย่างโปร่งใสยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ สปสช.ได้จัดอบรมเรื่อง “การป้องกันและปราบปรามทุจริตและการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช., นพ.วิทยา ตันสุวรรณนนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. และ ผู้บริหาร สปสช. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ สปสช.เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ในการอบรมครั้งนี้ สปสช.ได้รับเกียรติจาก นายอุทิศ บัวศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับแนวทางพร้อมให้คำแนะนำถึง “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ” ด้วยตนเอง

นพ.ประทีป กล่าวว่า สปสช.เป็นหน่วยงานทำหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละกว่าแสนล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารและจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชากรทั่วประเทศกว่า 48 ล้านคนให้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและครอบคลุม การดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลต่างๆ รวมถึงการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ในทุกโครงการ จึงต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส่และตรวจสอบได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการใช้งบประมาณด้วยความระมัดระวังและรัดกุม ซึ่งนอกจากเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลและทุจริตแล้ว ยังให้เกิดใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับการจัดอบรมเรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ ในครั้งนี้ นำไปสู่การเพิ่มพูนทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในแง่มุมต่างๆ ให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และบุคลากรใน สปสช.ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การอุดช่องว่างปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นได้

“เรื่องความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริต รวมถึงการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นสิ่งที่ สปสช.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และถือเป็นนโยบายหลักในการดำเนินงานของ สปสช. ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้เชิญเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาประจำที่ สปสช.เพื่อที่จะได้ทำการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนได้อย่างละเอียดเพื่อความโปร่งใสในการบริหาร และการจัดอบรมครั้งยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ สปสช. ที่มุ่งบริหารกองทุนฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสเช่นกัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว