ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม ขรก.สธ.ที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยา นร /154 และ นร./250 จี้ ก.พ.ทบทวน แก้ความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ หลังจัดการปัญหาเฉพาะกลุ่ม ทำเงินเดือนและค่าตอบแทนรุ่นน้องแซงรุ่นพี่ต่อเนื่อง กระทบขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน เกิดปัญหาเรียกร้องความเป็นธรรม ต้องตามแก้ปัญหาไม่จบ เผยยื่นหนังสือถึง ก.พ.พิจารณาตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 แล้ว หากยังไม่คืบเตรียมรวมพลใหญ่ทวงคำตอบ พร้อมขอความเป็นธรรมนายกรัฐมนตรี

นางสาวพิมภิลัย จองทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ วิสัญญีพยาบาล รพ. หาดใหญ่ จ. สงขลา ในฐานะตัวแทนกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ได้มีหนังสือที่ นร 1008.1/154 กำหนดหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชาการ หลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 และหนังสือที่ นร 1012.2/250 เพื่อเยียวยาผลกระทบความเหลื่อมเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ รวมทั้งสิทธิในการรับเกื้อกูลจากหนังสือฉบับข้างต้น ให้กับข้าราชการที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาเฉพาะกลุ่ม ส่งผลยังคงให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากในระบบ ทำให้มีข้าราชการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มพนักงานของรัฐที่จบปี 2543-2546 ได้รับการบรรจุในปี 2547 โดยเบื้องต้นมีจำนวนหลักหมื่นคนแล้ว

ที่ผ่านมาจึงได้มีการรวมกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยา และกลุ่มพนักงานของรัฐ ปี 2543-2546 รวมถึงพยาบาลที่ทำงานในกรมราชทัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบขอเข้าร่วมกลุ่ม โดยได้หารือกับสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมจาก ก.พ. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับทราบปัญหาแล้ว เพื่อขอให้เยียวยาในเรื่องนี้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่แต่เฉพาะวิชาชีพพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงวิชาชีพซึ่งอยู่ในระบบทั้งหมด ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร เป็นต้น

“การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เราขอให้ ก.พ.ทบทวนเงินเดือน ค่าตอบแทน โดยพิจารณาเยียวยาทั้งระบบ ไม่แต่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้รุ่นน้องที่เข้าทำงานทีหลังไม่ถึง 10 ปี ที่ได้รับการเยียวยา โดยมีเงินเดือนและค่าตอบแทนมากกว่ารุ่นพี่อย่างน้อย 5,000-6,000 บาท โดยรุ่นพี่บางคนทำงานมานาน 20 ปีแล้ว เงินเดือนยังอยู่ที่ 27,000 บาทเท่านั้น ขณะที่รุ่นน้องหลังได้รับการเยียวยา ทราบว่าบางคนได้รับเงินเดือนสูงถึง 30,840 บาท เรียกว่าเป็นอัตราเงินเดือนที่ก้าวกระโดดแซงหน้ารุ่นพี่ไปไกล ทำให้รุ่นพี่ซึ่งมีความรับผิดชอบมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า แต่กลับได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน” นางสาวพิมภิลัย กล่าว

นางสาวพิมภิลัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นว่าในการเยียวยา ก.พ.ควรทำอะไรที่เป็นมาตรฐานและควรพิจารณาทั้งระบบ เพราะหากปรับและเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องปัญหาคงไม่จบไม่สิ้น และจะก่อเกิดความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มจากการปรับฐานเงินเดือน 15,000 บาท โดยไม่ได้ดูภาพรวมทั้งระบบ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราได้ขอให้ข้าราชการ สธ.ทั่วประเทศร่วมส่งข้อมูลเงินเดือนเข้ามา โดยได้รวบรวมทำเป็นฐานข้อมูลยืนยันให้ ก.พ.พิจารณา และเท่าที่ติดตามการยื่นหนังสือทาง ก.พ.บอกว่ากำลังดำเนินการ ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้า และเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ทราบว่าทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือทวงถามไปยัง ก.พ.ให้แล้ว ดังนั้นหาก ก.พ.ยังคงไม่มีคำตอบใดๆ คาดว่าในเดือนพฤษภาคมคงต้องมีการรวมพลกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยาเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ ก.พ.อีกครั้งและต้องมีคำตอบ ไม่เช่นนั้นพวกเราคงต้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี

“สิ่งที่พวกเราออกมาเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมในฐานะผู้ปฏิบัติงานในระบบ เพราะขณะนี้เงินเดือนและค่าตอบแทนรุ่นน้องที่เข้าทำงานทีหลังแซงหน้ารุ่นพี่ไปแล้ว ซ้ำยังห่างกันมาก และมองว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยเหลือพวกเราแล้ว ในฐานะที่เราเป็นลูกหลานของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ให้แต่คำตอบว่ากระทรวงไม่มีอำนาจ อำนาจอยู่ที่ ก.พ.เท่านั้น แต่ต้องช่วยตั้งคำถามและผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาให้กับบุคลากรทั้งหมดในระบบ” ตัวแทนกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยา กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง