ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างค่านิยมบุคลากร ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย การจัดระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาคน และระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม ยึดหลักให้คุณค่าผู้ป่วยด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ ที่รวมพลังสังคม เพื่อประชาชนสุขภาพดี”

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2559 ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจคุณค่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลสุขภาพประชาชน และอยู่ระหว่างการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้นำระบบการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณค่า (Value Based Health Care) มาใช้ในการดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ ที่รวมพลังสังคม เพื่อประชาชนสุขภาพดี”

“สิ่งที่ได้ดำเนินการร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง 5 เสือ คือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ยั่งยืน นำไปสู่เป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” ด้วยการสร้างค่านิยมบุคลากร 4 ด้าน โดยนำตัวย่อจากชื่อกระทรวงสาธารณสุข คือ MOPH 

1.Mastery คือบุคลากรต้อง มีภาวะผู้นำ เป็นนายของตัวเอง ที่ต้องเอาชนะโลภ โกธร หลง ให้ได้ 

2.Originality สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  

3.People Centered Approach เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น สปสช.ที่เป็นผู้ซื้อบริการ ต้องซื้อตามที่ประชาชนอยากได้  

และ 4.Humility บุคลากรต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะทำงานเพื่อประชาชน ชักชวนและกระตุ้นให้คนดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งค่านิยมที่สร้างไว้นี้ จะเป็นของบุคลากรสาธารณสุข ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ค่านิยมนี้ก็จะยังอยู่คู่กับบุคลากร” นพ.ปิยะสกลกล่าว

ทั้งนี้ การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะพัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย (P&P Excellence) การจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Excellence) การพัฒนาคน (People Excellence) และระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม (Governance Excellence) โดยทุกอย่างต้องมุ่งเป้าไปที่ประชาชน ให้คุณค่าผู้ป่วยด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้”