ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ - สธ.ชงข้อเสนอรื้อกฎหมายบัตรทอง เพิ่มสัดส่วนหน่วยบริการสังกัด สธ. 7 ราย จากเดิมไม่มี เพิ่มอำนาจปลัด สธ.เป็นเป็นรองประธานบอร์ด จากเดิมเป็นเพียงกรรมการ ระบุเพื่อให้มติบอร์ดคุ้มครองหน่วยบริการมากขึ้น

นสพ.โพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 รายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เข้าสู่การพิจารณาของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. โดยเสนอให้เพิ่มสัดส่วนผู้แทนหน่วยบริการสังกัด สธ. ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จำนวน 7 ราย จากเดิมที่ไม่มีผู้แทนในส่วนนี้ และเพิ่มอำนาจของปลัด สธ.ให้เป็นรองประธานบอร์ด จากเดิมที่เป็นเพียงกรรมการเท่านั้น

สำหรับเหตุผล คือ สธ.เป็นเจ้าของหน่วยบริการคู่สัญญาที่ให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองกว่า 70% ซึ่งที่ผ่านมามติของบอร์ด สปสช.ได้สร้างผลกระทบต่อสถานะการเงิน มาตรฐาน และคุณภาพของหน่วยบริการ จึงจำเป็นต้องปรับสัดส่วนของบอร์ด สปสช.เพื่อให้มติออกมาคุ้มครองหน่วยบริการมากขึ้น

นอกจากนี้ สธ.ยังเสนอให้ยกเลิกคุณสมบัติของผู้สมัครดำรงตำแหน่งเลขาธิการที่ห้ามเป็นผู้บริหารหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งจะทำให้อธิบดีกรมต่างๆ หรือบุคลากรตำแหน่งอื่นๆ ใน สธ.สามารถสมัครเป็นเลขาธิการ สปสช.ได้

ขณะเดียวกัน ยังเสนอห้ามมิให้บุคคลเดียวกันดำรงตำแหน่งบอร์ดติดต่อกันเกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงเสนอให้ลดอำนาจบอร์ดจากเดิมที่ให้กำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ กำหนดประเภทและขอบเขตการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน เป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้กำหนดแนวทาง

พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้แก้ถ้อยคำจากกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน เป็นกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนที่มีวินัยการเงินการคลัง ให้มีการใช้เงินกองทุนได้ตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และ นพ.ปิยะสกล หารือร่วมกันเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สธ. เคยแสดงความคิดเห็นว่า การแก้กฎหมายหากไม่ชัดเจนเรื่องเป้าหมายและหลักการสำคัญอาจกลายเป็นการแก้ให้แย่ลง แม้รัฐบาลจะไม่มีเจตนาแต่ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เช่น การทำให้กลไก สปสช.กลายเป็นกลไกในระบบราชการ แทนที่จะเป็นองค์การมหาชนและทำหน้าที่ได้ดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2559