ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลวิชาชีพ ระดม ส่งหนังสือถึงนายกฯ รมว.คลัง / รมว.สธ. ศูนยดำรงธรรม ร้องทบทวนค่าตอบแทนฉบับที่ 10 หลังสร้างความเหลื่อมล้ำผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ ทั้งที่ทำงานพื้นที่เสี่ยงภัยเช่นกัน แต่ได้ค่าตอบแทนต่างกันหลายเท่า พร้อมยื่นข้อเสนอ สธ.จัดทำค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ขอแยกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนพยาบาลเฉพาะ เช่นเดียวกับแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร เหตุเป็นวิชาชีพกลุ่มงานรักษา และขอขยับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ของอัตราค่าตอบแทนวิชาชีพแพทย์ หรือห่างจากเภสัชกรร้อยละ 10 เพื่อลดช่องว่างวิชาชีพ เพิ่มความเป็นธรรม และสร้างขวัญกำลังใจให้กับพยาบาลในระบบ      

จากกรณีที่ชมรมผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน ได้มีการเชิญชวนพยาบาลวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.สาธารณสุข ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด และ ตู้ ปณ 111 ของรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรมและให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนตามข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับ10) พ.ศ.2559 

นางเรืองศิริ ไกรคง ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน กล่าวว่า สาเหตุที่มีการเรียกร้องในเรื่องนี้ เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนฉบับดังกล่าว หรือที่เรียกว่าค่าตอบแทนฉบับ 10 เป็นการให้ค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจทำงานให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งไม่ควรมีความแตกต่างกันมาก เพราะค่าตอบแทนนี้ไม่ได้คิดในเรื่องวิชาชีพ แต่เป็นการคิดเรื่องพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้นจึงได้เสนอให้มีการทบทวน เพราะที่ผ่านมาคนทำงานในพื้นที่ต่างรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น    

ทั้งนี้อัตราค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัยตามฉบับ 10 นี้ แพทย์ซึ่งทำงานในพื้นที่จะได้รับที่อัตรา 10,000 บาท เภสัชกร 5,000 บาท และพยาบาล 1,000 บาท ซึ่งพยาบาลมีความต่างถึง 10 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราที่แพทย์ได้รับ ทั้งที่การทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่สามารถระบุได้ว่าภัยจะเกิดกับใคร ทุกคนต่างมีความเสี่ยงเท่ากันหมด รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานในวิชาชีพอื่น จึงเป็นความไม่เสมอภาค อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมองว่า ประกาศหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับนี้ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงน่าจะแก้ไขปัญหาภายในโดยยื่นข้อเสนอเฉพาะผู้บริหาร สธ.ก่อน แต่เนื่องจากตัวแทนพื้นที่เห็นว่า เมื่อจะมีการส่งหนังสือทบทวนแล้ว ควรที่จะส่งทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อให้ผู้ใหญ่รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการเชิญชวนเพื่อให้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

“พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมจังหวัดสงขลาด้วยนั้น ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใด แม้แต่นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัยกลับกำหนดให้เฉพาะ 4 วิชาชีพเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาพยาบาลเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ถูกต่อว่าเช่นกัน จึงมองว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมและขอให้ทบทวน”   

นางเรืองศิริ กล่าวว่า นอกจากค่าตอบแทนฉบับที่ 10 แล้ว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดทำค่าตอบแทนฉบับที่ 11 เพื่อใช้จ่ายค่าตอบแทนในทุกพื้นที่ ซึ่งในส่วนวิชาชีพพยาบาลได้จัดทำข้อเสนอขอปรับค่าตอบแทนของพยาบาลและได้นำเสนอต่อ สธ.ในที่ประชุมพิจารณาค่าตอบแทนฉบับ 10 ที่ผ่านมา โดยขอปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับวิชาชีพแพทย์ และขออัตรานี้ให้กับพยาบาลที่ทำงานในทุกระดับเท่ากัน จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8-10 หรือ 1,200 บาทเท่านั้น หรือไม่ควรเป็นอัตราค่าตอบแทนที่ห่างจากเภสัชกรเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างค่าตอบแทนในระบบที่มีความเหลื่อมล้ำกันมาก

“เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าตอบแทนพยาบาลเราคงสู้วิชาชีพอื่นไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่พยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 90,000 คน การจะขอขยับปรับเพิ่มค่าตอบแทนแม้เล็กน้อยมักถูกมองว่าเป็นเม็ดเงินที่มาก ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ผู้บริหารควรมองที่ภาระงานและคุณภาพงานของพยาบาล ดังนั้นจึงควรสร้างความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพพยาบาลมากขึ้น” ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลฯ กล่าวและว่า ทั้งนี้แนวโน้มค่าตอบแทนพยาบาลน่าจะขยับเพิ่มขึ้น แต่จะได้ตามที่เสนอหรือไม่นั้นคงต้องรอดู แต่เรื่องนี้คิดว่า สธ.ควรต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้อยู่ในจุดที่ยอมรับกันได้และเป็นขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งที่ผ่านมาพยาบาลก็เป็นเด็กดีของ สธ.มาโดยตลอด

นางเรืองศิริ กล่าวว่า จากปัญหาค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพซึ่งมีความแตกต่างจากวิชาชีพอื่น ในการจัดทำค่าตอบแทนรอบนี้จึงได้เสนอขอแยกค่าตอบแทนพยาบาลออกจากวิชาชีพอื่น โดยจัดทำเป็นค่าตอบแทนเฉพาะเช่นเดียวกับแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร จากที่แต่เดิมรวมอยู่ในกลุ่มปริญญาตรีทั่วไป เนื่องจากลักษณะงานของพยาบาลมีความแตกต่างจากงานอื่นๆ ทั่วไป ซึ่ง สธ.รับทราบแล้ว และต้องรอดูผลประชุมการจัดทำหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน ฉบับที่ 11 ในวันที่ 30 พฤษภาคม นี้ว่าจะออกมาในทิศทางใด   

“งานของวิชาชีพพยาบาลเป็นงานเฉพาะ จึงควรจัดให้อยู่ในกลุ่มรักษา นอกจากเราต้องดูแลคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และผู้ป่วยวิกฤต ยังต้องทำหน้าที่ทั้งส่งต่อและติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้เสนอขอให้มีการแยกจัดทำหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเป็นวิชาชีพเฉพาะ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในค่าตอบแทนฉบับที่ 8 ได้มีการแยกแท่งค่าตอบแทนวิชาชีพพยาบาลอยู่แล้ว”       

นางเรืองศิริ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพเราได้มีการพูดคุยถึงแนวทางแก้ปัญหามานานแล้ว และที่นำเสนอในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงการจัดทำงบประมาณใหม่ ซึ่ง สธ.ต้องตั้งงบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณจึงต้องมีการประชุมหารือถึงการจัดทำค่าตอบแทนฉบับใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้ช่องว่างค่าตอบแทนวิชาชีพอื่นกับแพทย์ลดลง ซึ่งแต่ละวิชาชีพได้มีการนำเสนออัตราค่าตอบแทนของตนเอง รวมถึงวิชาชีพพยาบาล อย่างไรก็ตามเบื้องต้นสำนักงบประมาณให้จัดทำค่าตอบแทนโดยอิงงบประมาณเดิมไปก่อน ซึ่งต้องรอดูว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง