ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรวจพบข้าราชการและบุคคลในครอบครัว 11 ราย มีพฤติกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่อทุจริต เบิกค่ายาสูงกว่าปีก่อนๆ เช่น ปี 56 เบิกค่ายา 5 หมื่นบาท ปี 57 เบิกค่ายาพุ่งขึ้นเป็นกว่า 5 แสนบาท สั่งระงับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษา ตั้งแต่ 1 พ.ค. 59 พร้อมดำเนินคดีอาญา

นายมนัส แจ่มเวหา

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงของข้าราชการและบุคคลในครอบครัว พบว่า ข้าราชการและครอบครัว จำนวน 11 ราย มีพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลส่อไปในทางทุจริต ขณะนี้ได้ดำเนินการระงับสิทธิเบิกจ่ายตรงทั้ง 11 รายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า สำหรับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ สมัครขอใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงไว้หลายโรงพยาบาล และตระเวนไปใช้บริการเพื่อขอรับยาด้วยโรคเดียวกัน ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น นาง ก มารดาของข้าราชการ ได้สมัครจ่ายตรงไว้ 5 โรงพยาบาล เมื่อไปโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะขอรับยากลุ่มความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง โดยแจ้งต่อแพทย์ผู้รักษาว่า ขาดยาบ้าง ต้องไปต่างจังหวัดบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะพบข้อมูลการเบิกจ่ายผิดปกติไปจากเดิม เช่น เบิกค่ายาสูงกว่าในปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เบิกจ่ายค่ายา จำนวน 58,981 บาท แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เบิกจ่ายค่ายา 527,893 บาท

ขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการคดีอาญาได้จำนวน 2 ราย จากทั้งหมด 11 ราย ซึ่งกรมบัญชีกลางจะแจ้งให้โรงพยาบาลฯ ในฐานะผู้เสียหายร่วม ไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวด้วยกัน ส่วนอีก 9 ราย ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐาน

นายมนัส กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลางได้ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้ไปแล้วจำนวน 8 ราย ศาลมีคำพิพากษาจำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและพนักงานสอบสวน 4 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย

"การดำเนินการในเรื่องนี้ ได้เน้นย้ำว่า แม้ว่าการใช้สิทธิที่ส่อไปในทางทุจริตจะมีจำนวนไม่มาก แต่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบสวัสดิการข้าราชการ จึงต้องดำเนินการให้เด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนที่ใช้สิทธิโดยสุจริต" อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว