ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เขต 4 ได้คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขตพื้นที่ รพ.เอกชน โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี จ.ปทุมธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ จ.อ่างทอง ประธานฯ อคม.เขต เตรียมวางแผนการดำเนินงาน 4 ปี เกิดกลไกการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เตรียมคัดเลือกผู้แทนเทศบาล 29 มิ.ย.นี้

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมคัดเลือกคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 4 สระบุรี แทนองค์ประกอบสัดส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมทั้งประชุมตามวาระปกติ ครั้งที่ 1/2559 (สมัยที่ 2) โดยมี นพ.ชิตพงษ์ สัจจพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการ ดำเนินการประชุม อนุกรรมการเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี และเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การคัดเลือกคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 4 สระบุรี เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การคัดเลือกแต่งตั้งอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ พ.ศ.2557 โดยมีคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ เขต 4 สระบุรี ลาออกจำนวน 6 ท่าน โดย 3 ท่านเป็นสัดส่วนที่สำนักงานฯ จะต้องจัดให้มีการคัดเลือกกันเองในพื้นที่ อีก 2 ท่าน เป็นสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งสำนักงานฯ เป็นผู้เชิญให้ดำรงตำแหน่งตามประกาศฯ

และอีก 1 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกสำรองในสมัยแรก ได้แก่ นายบุญธรรม รุ่งศรี องค์ประกอบสัดส่วนผู้องค์กรเอกชน 9 ด้านตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานฯ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเพื่อทดแทนอนุกรรมการฯที่ลาออกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สปสช.เขต 4 สระบุรี ที่ผ่านมา จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ และกลุ่มผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล

สำหรับองค์ประกอบของ อคม.ระดับเขตพื้นที่มีจำนวน 26 คน ประกอบด้วย ผู้แทน สป.สธ. 1 คน ผู้แทน รพศ./รพท. 1 คน ผู้แทน รพช. 1 คน ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ 1 คน ผู้แทนพนักงานอัยการ สังกัดสำนักงานคดีปกครอง 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากราชวิทยาลัย สาขาสูติฯ ศัลยศาสตร์ อายุรกรรม กุมารเวช จิตเวช สาขาละ 1 คน ผู้แทนสภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภากายภาพฯ สภาเทคนิคการแพทย์ สภาละ 1 คน ผู้แทนผู้ประกอบโรคศิลปะ  2 คน ผู้แทน อบจ. เทศบาล อบต. หน่วยงานละ 1 คน ผู้แทนผู้องค์กรเอกชน 9 ด้านตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 คน

ผลการคัดเลือกคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯเขต 4 สระบุรี ในส่วนผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ ได้แก่ นางสาวพนิดา ตรงจิตพิทักษ์ โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี จ.ปทุมธานี ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล นายธวัช  ทองโอภาส อบต.ตลาดใหม่ จ.อ่างทอง และกำหนดคัดเลือกสัดส่วนผู้แทนเทศบาล ในวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุม สปสช.เขต 4 สระบุรี  โดยสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดในพื้นที่เขต 4 สระบุรี เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ ตามประกาศ เพื่อส่งรายชื่อให้แก่ สปสช.เขต 4 สระบุรีดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกกันเอง จำนวน 1 ท่าน

นพ.ชิตพงษ์ สัจจพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ในส่วนของอำนาจและหน้าที่ของ อคม.มีดังนี้ 

1) รับข้อมูลผลการพิจารณาคำร้องกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการในเขตพื้นที่ สรุป วิเคราะห์ ข้อจำกัดของระบบการให้บริการสาธารณสุข รวมทั้งจัดทำรายงานข้อเสนอเชิงป้องกันแก้ไข ให้สอดคล้องกับสภาพของหน่วยบริการในเขตพื้นที่            

2) ควบคุมและกำกับคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ตามมาตรา 50 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 

3) กำหนดมาตรการควบคุมและส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ตามมาตรา 50 (3) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  

4) พิจารณาเรื่องร้องเรียนหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขกำหนดตามมาตรา 50 (5)   

5) รายงานผลการตรวจตราและการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พร้อมทั้งแจ้งหน่วยบริการและหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อปรับปรุงแก้ไขและติดตามประเมินผลในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน ตามมาตรา 50 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  

6) ส่งเสริมความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 50 (7) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545   

และ 7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ เสนอชื่อคณะอนุกรรมการฯ ม.41 ตรวจประเมินการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการและเตือนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ 50 (5) เพื่อเสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (ระดับประเทศ)

“สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสมัยที่ 2 ตามระเบียบวาระการประชุมครั้งที่ 1/2559 โดยมีเนื้อหาสำคัญเช่น การคัดเลือกเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น (ม.41) แผนการพัฒนาศักยภาพเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ อคม.เขต 4 สระบุรี และหารือแนวทางการดำเนินงานใน 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ การควบคุมกำกับมาตรฐานบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐและเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ กลไกการดำเนินงานเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน ตามาตรา 41 มาตรา 57, 59 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น” นพ.ชิตพงษ์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง