ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่เก็บยาที่กินไม่หมด ยาหมดอายุ ยาเหลือใช้ หรือยาไม่ใช้แล้ว ไม่ควรทิ้งในถังขยะทั่วไปหรือแหล่งน้ำ เหตุยาบางประเภทมีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อระบบนิเวศและสุขภาพในระยะยาว

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ยาของประชาชนที่เป็นผู้ป่วย ได้รับมาจากโรงพยาบาล หรือสถานบริการการสาธารณสุข แล้วกินยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง รวมถึงยาบางชนิดที่ประชาชนซื้อหามาจากร้านขายยาทั่วไปแล้วหมดอายุ เหลือใช้ หรือไม่ใช้แล้ว มักเก็บไว้ในบ้าน สะสมเป็นเวลานานจนมีจำนวนมากขึ้น ประชาชนบางรายนำไปทิ้งลงถังขยะ ทิ้งลงแหล่งน้ำ หรือฝังลงดินในบริเวณบ้าน ซึ่งพบว่ายาบางประเภทส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

โดยทั่วไปยาจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ยาทั่วไป ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน จำพวก ยาแก้ปวด ยาลดไข้ และยาที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (Environmental Persistent Pharmaceutical pollutants : EPPP) เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคความดันโลหิต เบาหวาน ยารักษาอาการโรคซึมเศร้า รวมทั้งฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ซึ่งยาประเภทหลังนี้ จะมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ทนทาน โดยฤทธิ์ของยาจะไม่ถูกทำลายด้วยระบบกรองน้ำ ระบบผลิตน้ำประปา หรือระบบบำบัดน้ำเสีย ดังนั้น ยาประเภทดังกล่าว จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แล้วมีโอกาสย้อนกลับเข้าสู่ระบบผลิตน้ำดื่ม และน้ำประปา สำหรับการอุปโภค บริโภคของประชาชนในที่สุด ซึ่งในระยะยาวการรับสัมผัสยาที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลต่อสุขภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่งประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทิ้งยาลงในสิ่งแวดล้อมโดยตรง

นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า การจัดการยาสำหรับครัวเรือนและชุมชน สามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินยา การจัดเก็บยาให้ถูกต้องปลอดภัยต่อเด็กเล็ก และเรียนรู้วิธีการสังเกตหรืออ่านวันหมดอายุของยาภายในบ้าน อีกทั้ง ต้องรับทราบ สถานการณ์การปนเปื้อนยาในสิ่งแวดล้อมและโอกาสเสี่ยงต่อการรับสัมผัสยาที่ตกค้างในน้ำดื่มน้ำใช้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ในการส่งกลับยาไปกำจัด

ซึ่งทางภาครัฐ ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมกันหาทางจัดการ และควรกำหนดจุดตั้งกล่อง หรือภาชนะรวบรวมยาจากประชาชน เพื่อรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งหากเป็นยาที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ต้องนำไปกำจัดโดยวิธีเผาที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ส่วนยาทั่วไปประเภทอื่นสามารถนำไปกำจัดที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ก่อนนำเถ้าไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาลต่อไป

“ทั้งนี้ ยาสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับมาในปริมาณหนึ่ง ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการกินยาตามแพทย์สั่ง และต้องนำยาส่วนที่เหลือไปให้แพทย์ทำการตรวจสอบปริมาณที่เหลือทุกครั้งที่แพทย์นัด เพื่อเป็นการลดการตกค้าง และสะสมของยาไว้ ที่บ้านและป้องกันไม่ให้มียาเหลือทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม”

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อควรระวังสำหรับการจัดการยาจากครัวเรือนและชุมชน คือ ห้ามมอบหรือส่งต่อให้ผู้อื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาการป่วยของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ห้ามทิ้งลงในถังขยะทั่วไป ห้ามทิ้งลงในแหล่งน้ำ หรือในสิ่งแวดล้อมโดยตรง ห้ามทิ้งยาลงในชักโครกหรือระบบบำบัดน้ำเสีย หรือท่อระบายน้ำทิ้ง เนื่องจากยาบางประเภทมีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และอาจเกิดการปนเปื้อนสู่คนผ่านการหมุนเวียนน้ำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคได้ รวมทั้ง ห้ามเผาทำลายหรือเจาะตัวบรรจุภัณฑ์ประเภทยาที่อัดความดัน จำพวก ยาพ่นรักษาหอบหืด เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดเป็นอันตรายได้ แต่ควรส่งคืนยา ที่เหลือใช้ หมดอายุ หรือไม่ใช้แล้วกลับคืนโรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี