ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ, กระทรวงวัฒนธรรม, องค์กรยูเนสโกประจำประเทศไทย (UNESCO) และภาคเอกชน เตรียมผลักดันนวดไทยขึ้นเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ยกระดับแบรนด์นวดไทยให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ พร้อมเสนอกระทรวงแรงงาน กำหนดนวดไทยเป็นอาชีพสงวนเฉพาะคนไทยเท่านั้น เชื่อจะเป็นจุดแข็งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ รายได้จากธุรกิจบริการสุขภาพในตลาดโลก

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สบส.ได้เร่งเดินหน้าดำเนินการผลักดันการสร้างเศรษฐกิจรายได้ประเทศจากบริการสุขภาพ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) โดยยกระดับบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพประเภทนวดไทยและสปาไทยซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ให้เป็นแบรนด์หรือสัญลักษณ์ของประเทศไทย โดย สบส.มีแนวคิดผลักดันให้นวดไทยเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างชื่อเสียงและคุณค่าแก่ภูมิปัญญาไทย เนื่องจากการนวดไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาของไทยที่สืบทอดมายาวนานกว่า 600 ปี จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ นวดแบบราชสำนัก และนวดแบบเชลยศักดิ์

อธิบดี สบส. กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงวัฒนธรรม, องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ประจำประเทศไทย และภาคเอกชน ทุกหน่วยงานมีความเห็นตรงกัน และจะร่วมกันเร่งผลักดันตามขั้นตอน หากเป็นผลสำเร็จจะถือว่าเป็นมรดกชิ้นแรกของโลกที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ ขณะเดียวกันได้หารือกับกระทรวงแรงงาน ในการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมอาชีพนวดไทยให้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐาน เอกลักษณ์ และชื่อเสียงของการนวดไทย ซึ่งเปรียบเสมือนรสสัมผัสที่สามารถรับรู้ผ่านการนวดโดยฝีมือคนไทยเท่านั้น

ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ สบส. กล่าวว่า กระบวนการในการผลักดันนวดไทยเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจากองค์กรยูเนสโกนั้น สบส.จะเร่งจัดทำร่างแนวทางและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริการนวดไทย ที่จะยกให้เป็นระดับมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์ ที่ยังมีผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านบริการและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นประธาน จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมี พล.อ. ธนศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลก (Bureau of the World Heritage Committee) ซึ่งจะมีการประชุมทุกปีที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทย มีสถานที่ที่ประกาศเป็นมรดกโลก จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย มรดกโลกด้านวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มรดกโลกด้านธรรมชาติ มี 2 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าดงพระยาเย็น-เขาใหญ่ หากการนวดไทยผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการมรดกโลก ก็จะเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6 ของประเทศไทยในด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการยกระดับแบรนด์นวดไทยให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจบริการสุขภาพของไทย ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานของกรม สบส. ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559  และกฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องการนวด ทั้ง นวดแบบราชสำนัก และนวดแบบเชลยศักดิ์ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง