ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

HITAP หนุน กมธ.สาธารณสุข สปท.ผลักดันนโยบาย “สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ” กำหนดสิทธิประโยชน์หลักรักษาพยาบาล 3 กองทุน ลดความเหลื่อมล้ำ มาตรฐานเท่าเทียมกัน พร้อมแนะใช้โมเดล “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ต้องพัฒนาและทบทวนรายการสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง เน้นพิจารณายึดข้อมูลวิชาการและศึกษาวิจัย และต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (ไฮแทป-HITAP) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา HITAP ได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าให้ข้อมูลและความเห็นต่อการจัดทำ “สิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพ” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาเพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดย HITAP เห็นด้วยกับ กมธ.สาธารณสุข สปท.ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่เสนอให้ใช้คำว่า “สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ” แทน ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำสิทธิรักษาพยาบาลใน 3 กองทุนสุขภาพหลักของประเทศ

ทั้งนี้ความหมายของสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ คือมาตรการและการบริการ รวมถึงนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อประชาชนทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพ ที่ได้รับการคัดเลือกรายการบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อการเข้าถึงและได้รับสนับสนุนในระบบสุขภาพอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นพ.ยศ กล่าวว่า ส่วนแนวทางในการจัดทำสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพของประเทศนั้น จากประสบการณ์ในช่วง 5 ปี ซึ่ง HITAP ได้เป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาและวิจัยสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่จำเป็นให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักกประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้าถึงบริการสุขภาพ จึงได้เสนอรูปแบบการจัดทำสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพต่อ กมธ.สาธารณสุข สปท.ดังนี้

1.ดำเนินงานในรูปแบบองค์กรหรือคณะกรรมการ ซึ่งต้องอยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการจัดทำสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพจะครอบคลุมไม่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการที่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดการประสานการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และเป็นการอภิบาลระบบด้วย

2.ยึดรูปแบบการดำเนินงานเช่นเดียวกับการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งต้องมีการพัฒนาและทบทวนสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง กำหนดให้มีการประชุมในทุกเดือนเช่นเดียวกัน เนื่องจากสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างจากยาและเวชภัณฑ์ที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิ

3.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะผู้บริหารกองทุนและแพทย์เท่านั้น แต่ต้องมีภาคประชาสังคม กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม โดยมีรูปแบบเดียวกับบอร์ด สปสช. ทั้งนี้เพื่อที่จะได้รับฟังข้อมูลที่รอบด้านและมีส่วนร่วมในการพิจารณา   

4.ใช้งานวิชาการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลการศึกษาและวิจัยมาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจากประสบการณ์ที่ HITAP ได้ทำงานร่วมกับ สปสช.เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติม และได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้มีสิทธิอย่างมาก ซึ่ง HITAP ได้ทำการศึกษาวิจัยก่อนโดยใช้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และนำผลที่ได้มาเสนอต่อผู้บริหารและบอร์ด สปสช.เพื่อตัดสินใจ โดยสิทธิประโยชน์ที่ HITAP ได้ทำการศึกษาวิจัย อาทิ สิทธิประโยชน์แว่นสายตาสำหรับเด็ก การคัดกรองพัฒนาเด็ก และการให้ยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก เป็นต้น

นพ.ยศ กล่าวต่อว่า การจัดทำสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพถือเป็นทิศทางระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ต้องขับเคลื่อนไปและจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพได้ โดยสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพนี้จะครอบคลุมทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งในต่างประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ ต่างมีการจัดทำสิทธิประโยชนหลักด้านสุขภาพในรูปแบบนี้เช่นกัน เพื่อทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบและกองทุนต่างๆ ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน