ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติสั่งร่นเวลาจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ต้องเสร็จภายใน 8 เดือน หลังพบสารพัดปัญหาและภัยคุกคามสุขภาพจากการขยายตัวของเมือง แนะบูรณาการการทำงานของสถานพยาบาลทุกสังกัด มุ่งจัดระบบบริการปฐมภูมิเต็มรูปแบบ

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการทุกภาคส่วน โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คนใหม่ เป็นเลขานุการที่ประชุม ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ

พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย

พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นความสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 เรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบพร้อมกับมติสมัชชาสุขภาพอื่นๆแล้ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง คณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เลขานุการร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานมาก

พลเรือเอกณรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการระดับชาติดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำ “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง” โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาระบบ บริการปฐมภูมิ ที่เข้มแข็ง บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพ อาทิ โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ที่มีประชากรหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงประชากรแฝงและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อระบบการให้บริการสุขภาพที่มีอยู่ในขณะนี้

“ปัจจุบัน เมืองมีการขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ยังมีเมืองประเภทต่างๆ หลากหลาย ทั้งเมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจ เมืองชายแดน โดยการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่ไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีปัญหาอุปสรรคทั้งเรื่องความพอเพียงและความสามารถในการเข้าถึงระบบและสถานบริการสุขภาพรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ของคนเมืองกลุ่มต่างๆ จึงต้องเร่งให้มีคณะกรรมการระดับชาติฯ มาจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองให้แล้วเสร็จ ภายในเวลาไม่เกิน ๘ เดือน ตรงนี้ต้องขอร่นเวลาจากที่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ระบุไว้ให้ทำภายใน 1 ปี ขอให้ทำให้เร็วขึ้น จะได้นำมาเสนอในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป จะได้มียุทธศาสตร์ฯ ขับเคลื่อนทางปฏิบัติได้ ”

ปัญหาหลักที่พบในระบบบริการสุขภาพในเขตเมือง  คือ การบริหารจัดการสถานพยาบาลในสังกัดต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม และ กทม. อยู่ในสภาพต่างคนต่างดำเนินการ ขาดการบูรณาการความร่วมมือ ส่งผลให้ประชาชนในเขตเมืองยังเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานในระดับปฐมภูมิ คนเมืองส่วนใหญ่มักไปซื้อยารับประทานเอง หรือหากต้องการไปโรงพยาบาลก็จะไม่ทราบว่าหน่วยบริการปฐมภูมิที่ดูแลครอบครัวตนเองนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน แต่จะเลือกไปโรงพยาบาลที่ตนเองไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐ มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลเอกชน หรือประเด็นการดูแลฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุหรือดูแลผู้ป่วยติดเตียงในเขตเมือง ขณะที่ในชุมชนชนบทหลายแห่งมีการจัดบริการเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยม ให้บริการถึงบ้าน แต่ในเขตเมืองกลับไม่มี กลายเป็นปัญหาที่บริการสุขภาพเขตเมืองแตกต่างจากในเขตชนบท การจัดทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้จึงต้องบูรณาการทุกหน่วยงานให้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ สนับสนุนให้คนทุกระดับเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง นำไปสู่คุณภาพชีวิตสังคมคนเมืองที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ประกอบด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่มุ่งเน้นบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ โดยให้ประสานความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง เมื่อเสร็จสิ้นก็มีหน้าที่นำเสนอยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป