ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอเจตน์’ เผย สธ.รับลูกทำประชาพิจารณ์ กม.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ย้ำไม่ตั้งกองทุนใหม่ ขยาย กม.เดิม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ให้คุ้มครองในทุกสิทธิ ชี้เรื่องนี้เห็นต่างกันมาก จึงต้องหาจุดสมดุลใช้การเยียวยาเดิมที่มีอยู่แล้ว เพิ่มวงเงิน และไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด หากได้รับผลกระทบจะต้องช่วยเหลือทันที

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ... ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความคิดเห็นต่างกันระหว่างผู้เสนอร่างกฎหมาย และผู้เห็นต่างมานานหลายปี แต่เป้าหมายที่เห็นเหมือนกันคือ มีความต้องการลดคดีฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม จากเรื่องนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า แทนที่จะตั้งเป็นกองทุนใหม่จากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ควรจะใช้ช่องทางที่มีอยู่แล้ว คือ การขยายความคุ้มครองในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และมาตรา 63(7) ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2558  รวมเข้ากับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แทนการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายฯ

“สธ.จึงเสนอว่า การขยายมาตรา 41 จะต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมร่วมไปด้วยโดยไม่ต้องตั้งเป็นกองทุน แต่ใช้เงินของแต่ละกองทุนบริการสาธารณสุขครอบคลุมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ โดยจะมีการเพิ่มวงเงิน แต่จำนวนเท่าไหร่ก็ต้องหารือร่วมกัน ที่สำคัญผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งการคุ้มครองดังกล่าวในส่วนสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้น จะมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หมายความว่าทุกสิทธิสุขภาพจะได้รับการคุ้มครองทั้งหมด" นพ.เจตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มที่ต้องการ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายโดยเฉพาะมองว่า ยังไม่ตอบโจทย์ นพ.เจตน์ กล่าวว่า ก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้มีความเห็นต่างกันมาก แต่ก็ต้องมองกลางๆ ให้ได้รับความพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่ายมากที่สุด เพราะฝ่ายเห็นต่างมองว่า หากตั้งกองทุนใหม่ มีเงินเยียวยามากขึ้นก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องหาจุดสมดุลให้มากที่สุด แต่หากใช้การเยียวยาเดิมที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มเติมวงเงิน บวกกับเพิ่มเติมไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด หากได้รับผลกระทบจะต้องช่วยเหลือทันที ก็น่าจะดีกว่าหรือไม่ ที่สำคัญจะไม่ใช่แค่ช่วยเหลือเงินกับผู้รับผลกระทบเท่านั้น ยังมีการพิจารณาว่า ควรมีการดูแลพวกเขาไปตลอดชีวิต เช่น หากได้รับผลกระทบจนพิการตลอดชีวิต แม้จะได้รับเงินในการเยียวยาแต่ก็ไม่เพียงพอในแง่คุณภาพชีวิต จึงมองว่าควรมีศูนย์หรือคลินิกในชุมชนคอยดูแล เหมือนกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ทำงานลงพื้นที่ ก็ควรจะมีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งจุดนี้กระทรวงที่รับผิดชอบก็จะต้องไปพิจารณาเพิ่มเติม

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกำหนดในการขยายการคุ้มครองผู้เสียหายฯ นั้น จะมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ปลัด สธ.เป็นรองประธาน กรรมการมาจากหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการฯ มีคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยของส่วนกลางและจังหวัด โดยผู้ได้รับผลกระทบให้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยภายใน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี

กรณีผู้ได้รับผลกระทบเสียชีวิตหรือไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ให้ญาติหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ได้รับมอบหมายยื่นคำขอแทนได้ ผู้ให้บริการซึ่งได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับเงินชดเชยด้วย

“ส่วนจำนวนเงินชดเชยให้คำนึงถึงหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) โดยพิจารณาจากผลกระทบหรือความเดือดร้อนที่ได้รับ พฤติการณ์แวดล้อม ระดับความรุนแรง การบรรเทาเยียวยาหรือความจำเป็นอื่นประกอบด้วย ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่พอใจกับจำนวนเงินชดเชยที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการฯ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เมื่อผู้ได้รับผลกระทบหรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินชดเชยแล้ว สิทธิการฟ้องร้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทั้งปวงเป็นอันจบสิ้น แต่หากจะฟ้องศาลก็ต้องไม่รับเงินชดเชย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมด สธ.อยู่ระหว่างจัดทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งหากผ่านก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป” นพ.เจตน์ กล่าว

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับการเดินหน้าเรื่องนี้ เนื่องจากทางเครือข่ายผลักดันมาตลอด เพื่อขอให้ผู้ป่วยทุกกองทุนที่ได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ โดยไม่ได้ต้องการจะมีปัญหาหรือฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์เลย ส่วนการไม่ตั้งกองทุนใหม่ก็เป็นเรื่องดี ขอแค่มีกฎหมายมาคุ้มครองประชาชนกรณีนี้ก็พอ ทั้งนี้ ที่กังวลจะมีกระบวนการ กลไกในการจ่ายเงินเยียวยา ก็ต้องมาพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการอีกว่าจะมีกี่ชุด และจะมีสัดส่วนของภาคส่วนไหนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปหารือกัน