ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร์” ห่วงข้อเสนอแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวกระทบลูกจ้างชั่วคราว ด้าน “หมอปิยะสกล” ยันทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่มีการแยกเงินเดือน หากจะทำอะไรต้องมีผลศึกษารอบด้านก่อน ขณะที่ คน สธ.ฉุนให้ข้อมูลบิดเบือน หวั่นโยงการเมือง

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นกรรมการในบอร์ด สปสช. และทราบการบริหารจัดสรรงบประมาณ จึงทำให้มีความเป็นห่วงว่า หากมีการแยกเงินเดือน โดยการตัดมาตรา 46 (2) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ระบุว่า การจัดสรรงบให้หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดือน และค่าตอบแทนบุคลากร ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะเงินเดือนไม่ใช่แค่ข้าราชการในหน่วยบริการนั้นๆ แต่หมายถึงเงินค่าตอบแทนของบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ด้วย

“หมายความว่าหากมีการแยกเงินเดือนออกจริง จะไม่ใช่แค่เงินส่วน 40,000 ล้านบาท แต่ยังมีอีก 20,000 ล้านบาทสำหรับลูกจ้างชั่วคราวและ พกส. แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่พูดถึงส่วนนี้ พูดเพียงแยกเงินเดือนส่วนข้าราชการเท่านั้น แต่ในส่วนลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.ซึ่งมีอยู่ในระบบสุขภาพอีกกว่า 130,000 คน จะทำอย่างไร เพราะหากแยกเงินเฉพาะ 4 หมื่นล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาทต้องไปขอสำนักงบประมาณเพิ่ม ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ตามที่ขอ แบบนี้ก็ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงหรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ปกติงบประมาณหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทนทั้งหมดจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างข้าราชการ บุคลากรใน สธ. 4 หมื่นล้านบาท และเงินส่วนลูกจ้างชั่วคราว พกส.อีก 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงบประมาณในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน โดยจะเป็นเงินก้อนให้กระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินค่าจ้างที่เหลือจะอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว หากต้องแยกออกไปหมด เงินเหมาจ่ายจะน้อยลง และงบเงินเดือนจะได้เพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องไปเจรจาของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งก็มีกระทรวงอื่นๆ อีกที่ต้องการงบ

ดังนั้น เรื่องนี้จึงอยากให้พิจารณาอย่างรอบด้านด้วย ที่สำคัญค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายเฉพาะลูกจ้างชั่วคราว พกส.เท่านั้น แต่ยังจ่ายในแง่ให้หน่วยบริการอื่นที่ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข อย่างคลินิกชุมชนอบอุ่น 200 แห่ง รพ.เอกชนอีก 100 แห่ง เพื่อให้รับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง หากไม่มีเงินส่วนนี้ เงินเหมาจ่ายจะน้อยลง หน่วยบริการเหล่านี้คงไม่อยากรับผู้ป่วยบัตรทองเป็นแน่ ยิ่งคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนแล้วด้วย ซึ่งหน่วยบริการเหล่านี้ดูแลคนถึง 3 ล้านคน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่มีการแยกเงินเดือนอะไรทั้งสิ้น ขอให้อย่าเพิ่งกังวล เพราะหากจะทำอะไรก็ต้องมีผลการศึกษาอย่างรอบด้านแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีรายงานว่าส่วนใหญ่ระบุว่า เรื่องนี้ใน สธ.ไม่มีใครอยากไปโต้หรือออกมาพูดอะไรมาก เพราะจะถูกจับโยงเป็นเรื่องการเมือง แต่ข้อเท็จจริง คือ เงินในส่วนจ่ายค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.เป็นเงินที่เรียกว่า เงินบำรุง ซึ่งเป็นเงินของโรงพยาบาลเองที่ถูกแปรมาจากงบบัตรทอง งบประกันสังคม และงบจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยมีการดำเนินการเช่นนี้มานานแล้ว ดังนั้น ตัวงบ 2 หมื่นล้านบาท ก็ถูกแปรเป็นงบบำรุง ตามระเบียบเงินบำรุงฯ เช่นกัน แต่ด้วยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมาตรวจ และทักท้วงว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ตามที่ปรากฏเป็นข่าว จึงต้องมีการแก้กฎหมาย แต่เห็นว่าเมื่อยังมีปัญหา ทาง รมว.สาธารณสุขก็สั่งให้มีการศึกษาอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขทันทีทันใด ดังนั้น การออกมาพูดให้เกิดความเข้าใจผิดในช่วงใกล้วันประชามติ จึงน่าคิดว่าต้องการอะไรกันแน่