ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตบอร์ด สปสช. ชี้ข้อเสนอ สนช.ตัด ม. 46 (2) กม.บัตรทอง แยกเงินเดือน/ค่าตอบแทนงบเหมาจ่าย เป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำลายระบบสาธารณสุขประเทศ เหตุทำเม็ดเงินในระบบหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท กระทบหนัก สธ. ไม่มีเงินจ้างบุคลากร หวั่นทำลูกจ้าง สธ. 1.3 แสนคนตกงาน แถมหน่วยบริการเอกชน เลิกเป็นคู่สัญญา สปสช. เหตุได้แค่ค่าเหมาจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์ ไม่มีค่าแรง ระบุผู้เสนอแยกเงินเดือนศึกษาไม่รอบด้าน แนะภาคีสุขภาพต้องเสียงเดียว เสนอ สนช.ยุติแยกงบบัตรทอง

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งตั้งโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบจากข้อเสนอการแยกเงินเดือนออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอแก้ไขใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งได้ผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว

ทั้งนี้จากข้อมูลการวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ รวมถึงการชี้แจงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้เข้าชี้แจงต่อ สนช.ก่อนหน้านี้ ในกรณีที่ตัดมาตรา 46 (2) ซึ่งระบุให้งบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทน ไม่เพียงแต่จะเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังเป็นการทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากเงินเดือนและค่าตอบแทนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 38,000 ล้านบาท เงินเดือนลูกจ้างชั่วคราวที่ว่าจ้างด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาล 1,000 ล้านบาท และที่เหลือเป็นค่าตอบแทนต่างๆ ให้กับบุคลกรในระบบสุขภาพทั้งหมดอีกประมาณ 20,000 บาท หากแยกเงินเดือนนั่นหมายความว่าเงินจำนวน 60,000 ล้านบาทนี้ ต้องถูกตัดออกไปด้วย

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในการจัดสรรงบเงินเดือนและค่าตอบแทน 60,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันจำนวน 38,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้โอนไปยัง สธ.โดยตรงเพื่อบริหาร และอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ยังคงรวมกับงบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากทั้งสำนักงบประมาณและ สปสช.เห็นตรงกันว่า เป็นเงินส่วนสำคัญเพื่อเป็นค่าจ้างและค่าตอบแทนต่างๆ ในการบริการให้กับหน่วยบริการต่างๆ เพิ่มเติม ดังนั้นหากตัดมาตรา 46 (2) ออกไปทั้งหมด จะทำให้ สปสช.หรือแม้แต่สำนักงบประมาณเอง ไม่สามารถตั้งงบประมาณในส่วนนี้ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย อีกทั้ง สธ.เองยังต้องหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับลูกจ้างเพิ่มเติมทดแทนจากที่ได้เพิ่มเติมผ่านระบบของ สปสช.

“งบประมาณ 20,000 ล้านบาทนี้ เดิมเคยอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ถ้าตัดมาตรา 46 (2) ออกไป สธ.เองจะไปตั้งขอเพิ่มงบเงินเดือนและค่าตอบแทนนี้ได้หรือไม่ และคำถามคือแล้วสำนักงบประมาณจะอนุมัติตามที่ สธ.เสนอหรือไม่ เพราะจะติดกรอบนโยบายจำกัดกรอบอัตรากำลังคนเพื่อลดงบประมาณของรัฐบาลก่อนหน้านี้ รวมถึงเพดานงบประมาณของแต่ละกระทรวง ดังนั้นหาก สธ.ไม่สามารถหาเงิน 20,000 ล้านบาทมาทดแทนได้ นั่นหมายความว่า ลูกจ้าง สธ.และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) อาจต้องตกงาน โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต่างอยู่ในระบบประกันสังคม นั่นหมายการเลิกจ้าง สธ.ยังต้องจ่ายเงินชดเชย 3 เดือนให้กับลูกจ้างเหล่านี้ จะนำเงินมาจากไหน” อดีตบอร์ด สปสช. กล่าว

นอกจากนี้ผลกระทบยังตกถึงประชาชน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ประมาณ 130,000 คน กระจายอยู่ในหน่วยบริการ สธ.ทั่วประเทศ ซึ่ง สธ.มีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพประชาชน เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้นประชาชนจะประสบปัญหาเข้าถึงบริการ เพราะ สธ.จะไม่มีเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนเพื่อให้คนเหล่านี้อยู่ในระบบได้

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือ งบเงินเดือนและค่าตอบแทนที่รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.เป็นผู้บริหารนั้น นอกจากจ่ายให้หน่วยบริการสังกัด สธ. แล้ว ยังต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการสังกัดหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงหน่วยบริการเอกชน ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชน โดยโอนรวมกับงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งหากตัดมาตรา 46 (2) ไป งบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.โอนให้กับหน่วยบริการเอกชนจากนี้ จะไม่มีค่าจ้างรวมอยู่ด้วย มีแต่เฉพาะค่ายาและเวชภัณฑ์ คำถามคือเมื่อไม่มีการรวมค่าจ้างแล้ว หน่วยบริการเอกชนจะรับเป็นคู่สัญญา สปสช.เพื่อดูแลผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ทั้งนี้หน่วยบริการเอกชนส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่ในเขต กทม.มีอยู่กว่า 200 แห่ง ครอบคลุมประชากร 3 ล้านคน คนเหล่านี้อาจจะไม่มีหน่วยบริการปฐมภูมิสังกัดต่อไป 

“การแก้ไขกฎหมายที่ไม่ดูข้อเท็จจริง โดยเฉพาะบริบทของหน่วยบริการ กำลังจะสร้างผลกระทบใหญ่ให้กับประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังเป็นการทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ ไม่ซึ่งการตัดมาตรา 46 (2) ไม่แค่แยกเงินเดือนออก แต่งบประมาณในระบบจะหายไปด้วย ซึ่งจะส่งผลใหงบเหมาจ่ายรายหัวปัจจุบันที่เคยได้รับ 3,000 บาทต่อคนต่อปี เหลือเพียง 1,600 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น” อดีตบอร์ด สปสช. กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา สนช.และ สธ.เอง รับทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้แล้วหรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนช.รับทราบปัญหาแล้วโดยผ่านการชี้แจงของ สปสช.ในวาระแรกของการพิจารณาเพื่อรับหลักการ โดย สนช.ยังคงยืนยันผ่านร่างกฎหมายนี้ ขณะที่ สธ.เอง ก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจและมองไม่เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้ เพราะคิดว่างบเหมาจ่ายรายหัวที่ผ่าน สปสช.ลงไปยังหน่วยบริการจะได้เท่าเดิม แต่เพิ่งรับทราบปัญหาในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายฯ ที่ผ่านมา และรู้สึกตกใจหลังจากที่เห็นข้อมูลจริง และขณะนี้ยังไม่รู้ว่า สธ.เองจะดำเนินการอย่างไร

ข้อเสนอขณะนี้คือต้องมีความเห็นร่วมกัน คือต้องยุติการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว หรือหากแยกเงินเดือนออก สธ.ต้องมั่นใจว่าจะคุยกับสำนักงบประมาณเพื่อของบถึง 20,000 ล้านมาเพิ่มได้ แต่มองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะที่ผ่านมาด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ และนโยบายจำกัดกำลังคนของภาครัฐ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทำให้เกิดความยืดหยุ่นที่ช่วยให้ สธ.จ้างบุคลากรเพิ่มเติมในระบบเพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลประชากรได้ อีกทั้งระบบบริการสาธารณสุขไม่ใช่ร้านขายของ ซึ่งเมื่อไม่มีลูกจ้าง ไม่มีงบประมาณก็ปิดบริการได้ เพราะยังมีประชาชนที่รอรับการรักษาตรงนี้จะทำอย่างไร 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุขได้มอบให้ปลัด สธ.ทำการศึกษาผลกระทบกรณีการแยกเงินเดือนแล้ว นายนิมิตร์ กล่าวว่า สธ.คงต้องรีบศึกษา เพราะขณะนี้การพิจารณาของ สนช.อยู่ระหว่างเดินหน้า หากผ่านวาระ 2 และ 3 แล้ว ทุกอย่างก็จะช้าเกินไป อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณประเทศในปี 2560 จึงต้องรีบดำเนินการ ซึ่งวันนี้ภาคีในระบบสุขภาพต้องมีเสียงเดียวกันคือไม่แยกเงินเดือน แยกเงินเดือนไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นไม่เพียงแต่ตัดแขนตัดขา สธ.เอง แต่ยังทำลายระบบสุขภาพของประเทศ และยังทำร้ายลูกจ้างและ พกส.ที่อยู่ในระบบ

เมื่อถามว่า มองเจตนารมณ์ของผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างไร นายนิมิตร์ กล่าวว่า มองว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยใช้วิธีคิดง่ายๆ และคิดว่าเงินในระบบที่ได้จะยังเท่าเดิม ซึ่งในข้อเท็จจริงมีรายละเอียดของกฎหมาย หากไม่ศึกษาก่อนจะส่งผลกระทบเสียหายต่อประชาชนและประเทศ ซึ่งการจะเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ควรดูหลักการและต้องมีงานศึกษาวิจัยรองรับ ไม่ใช่แค่ใช้ความเห็นมาเสนอ คิดแค่นั้นคงไม่ได้ ซึ่งย้ำว่าทางออกของผลกระทบร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คือต้องยุติการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยต้องชี้ให้เป็นกฎหมายการเงินเพื่อไม่ให้ผ่านระเบียบการพิจารณาตามขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายของ สธ. เพื่อยุติเรื่องนี้

“สิ่งที่ภาคประชาชนทำได้ขณะนี้ คือการลุกมาตั้งคำถามอย่างที่ทำขณะนี้ และให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับสาธารณะ ให้คนที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูล และพิจารณาอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังต้องมีคำตอบด้วยว่า หากมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและระบบสุขภาพประเทศ จะมีทางออกอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่การนำเสนอเท่านั้น” อดีตบอร์ด สปสช. กล่าวและว่า พร้อมกันนี้ขอฝากไปยัง สนช.ด้วยว่าการพิจารณาเรื่องนี้ควรอยู่บนหลักการและข้อเท็จจริง ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่าปัญหาเงินเดือนและค่าตอบแทนใน สธ. รวมถึงปัญหา รพ.ขาดทุนคืออะไร ไม่ใช่คิดเองว่าเป็นเหตุจากปัญหารวมเงินเดือนหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างมาก