ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผย ทุก 1 ชั่วโมง คนไทยตายบนถนนอย่างน้อย 3 คน ร้อยละ 76 เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ยก “ลำปาง” ต้นแบบส่งเสริมสวมหมวกนิรภัย 100 % มีผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยสูงถึงร้อยละ 59.8 ผู้ซ้อนร้อยละ 24.2 และอำเภอสบปราบพื้นที่สวมหมวกนิรภัยสูงสุด สคอ.ชวนสื่อ-สังคม ร่วมประณามพฤติกรรมยอดแย่ ชี้ “รับไม่ได้” ขี่รถจักยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย 

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.59 ที่ อ.เมือง จ.ลำปาง – ในการประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนนโยบายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้มีความต่อเนื่อง และร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายชเนรินทร์ สมินทรปัญญา ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุม มีตัวแทนสื่อมวลชนระดับภูมิภาคและเครือข่ายจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 60 คน  

นายชเนรินทร์ สมินทรปัญญา

นายชเนรินทร์ กล่าวว่า  สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัดลำปาง ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุยายน 2559 พบเกิดอุบัติเหตุ 433 ครั้ง เสียชีวิต 104 ราย บาดเจ็บ 521 ราย รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดเหตุมากสุดถึง 197 คัน ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย เดือนมกราคม 2559 มีการจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย 6,890 ราย เดือนกรกฏาคม 5,391 ราย ลดลง 1,499 ราย ส่วนอัตราเฉลี่ยรวมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่/ผู้ซ้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกรกฎาคม 2559 พบ ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.8 ผู้ซ้อน ร้อยละ 24.2 เป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 49.7 ประชาชนทั่วไป 61.3 และอำเภอสบปราบ มีอัตราสวมหมวกนิรภัยสูงสุด ร้อยละ 79.03 รองลงมาอำเภอเมือง ร้อยละ 64.80  

นอกจากนี้มาตรการการป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งจังหวัด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติทางถนนให้เหลือน้อยลงที่สุด โดยขับเคลื่อนสร้างการรับรู้แก่ทุกภาคส่วน ให้เห็นถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและปฏิบัติตามกฎจราจร พร้อมประกาศเป็นวาระของจังหวัดใช้ชื่อ “คนลำปาง ร่วมใจ สวมหมวกนิรภัย มีวินัยจราจร” ตลอดปี 2559 ใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อน คือ การถ่ายภาพหรือคลิปผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าในสถานที่ราชการ พร้อมมีเงินรางวัลให้ 1,000 บาท การจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และมอบป้ายวาระจังหวัดลำปางให้แก่หน่วยงานส่วนราชการ เพื่อนำไปติดตั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์พร้อมกันทั่วทั้งจังหวัด 

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทยปี 2557 โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) พบว่า ทุก 1 ชั่วโมง คนไทยตายบนถนนอย่างน้อย 3 คน จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุร้อยละ 76 เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งในปี 2555 มีรายงานผู้เสียชีวิต 23,601 ราย ปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 21,429 ราย ลดลง 2,172 ราย ซึ่งการประชุมครั้งนี้มุ่งหวังให้สื่อมวลชนและเครือข่ายได้ร่วมกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเข้าไปส่วนร่วมผลักดันนโยบาย มาตรการแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆ ช่วยกันเฝ้าระวังจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง หนุนเสริมมาตรการของรัฐ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน พร้อมกันนี้สื่อและคนในสังคม ต้องช่วยกันประณาม ไม่ยอมรับ และ “รับไม่ได้” กับพฤติกรรมการขับขี่ที่เห็นแก่ตัว ไร้ระเบียบวินัย อย่าให้การทำผิดกฎจราจรเป็นความเคยชินในสังคมไทยอีกต่อไป       

ผศ.ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจากความสูญเสียนักศึกษาจากเหตุอุบัติเหตุทางถนน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ จากจุดเริ่มต้นการทำงานภายใต้โครงการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ขับขี่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เริ่มตั้งแต่ปี 2553 โดยทำ 3 กิจกรรมหลัก คือ ให้ความรู้นักศึกษา การเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในการทำงาน ภายใต้การดำเนินงาน “ราชภัฏร่วมใจ ขับขี่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร” ใช้วิชาการและการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมสอดแทรกวิธีป้องกันอุบัติเหตุ ปลูกจิตสำนึกรักความปลอดภัยให้กับนักศึกษาและประชาชน สร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ใช้กลยุทธ์ที่เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักศึกษา ร่วมกับการใช้รูปแบบการเชื่อมประสานความร่วมมือแบบบูรณาการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนในจังหวัด

เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสร้างมาตรการองค์กรในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% (ห่วงใคร ให้ใส่หมวก) จังหวัดลำปางกับภาคเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน ปัจจุบันมีกว่า 7 หน่วยงาน การจัดตั้งชมรมถนนปลอดภัยในสถานศึกษา ชมรมถนนปลอดภัยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้ชื่อโครงการ “ถนนปลอดภัยในสถานศึกษา หรือ RVP ROAD SAFETY CAMP” ร่วมกับ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษาของสถาบันไปในทางที่ดีขึ้น มีการพฤติกรรมในการสวมหมวกนิภัยภัย 100 % จากผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของนักศึกษาที่ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานศึกษา ของมูลนิธิไทยโรดส์ 

จากการทำงานที่มุ่งมั่นและตั้งใจสร้างความปลอดภัยทางถนน ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้รับรางวัลมากมาย  อาทิ เช่น รางวัลองค์กรต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100% ภายใต้การรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ห่วงใคร ให้ใส่หมวก จาก สสส. , รางวัล Prime Minister Road Safety Award ประเภทองค์กรภาครัฐ ที่มีผลงานเด่น ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถน - สสส.และเครือข่ายการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ในสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 “ครึ่งทางทศวรรษ...กับการจัดการที่เข้มแข็ง เป็นต้น