ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวิจารณ์ พาณิช” หนุนบริหารจัดการสุขภาพระดับอำเภอสนับสนุนระบบสุขภาพประเทศ ชี้เป็นกลไกสำคัญช่วยประเทศไทยฝ่าสิ่งท้าท้ายระบบสุขภาพ ทั้งความขัดแย้ง ระบบทุนนิยม เทคโนโลยี โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคระบาด แถมสร้างความยั่งยืน “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิช

ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ควรหวงแหนและควรพัฒนายกระดับ เนื่องจากเราสามารถดำเนินระบบให้ประสบความสำเร็จเพื่อทำให้คนมีสุขภาพดี และองค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าทุกประเทศควรมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยประเทศไทยนอกจากได้รับการยกย่องแล้ว จากการรีวิวผลงานด้านสุขภาพทั่วโลก 14 เรื่องโดยองค์การอนามัยโลก 2 เรื่องเป็นผลงานของประเทศไทย และหนึ่งในนั้นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เพราะช่วยให้คนไทยกว่า 100% ได้รับการดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจแต่ก็ประมาทไม่ได้ เนื่องจากจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงของประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีอีกการศึกษาหนึ่ง คือการทำระบบสุขภาพที่ดีโดยที่ใช้ค่าใช้จ่ายไม่สูง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ได้รับการยกย่องในเรื่องนี้ เนื่องจากเรามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 4-6% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 18% ของจีดีพี แต่ก็ยังดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง ทั้งนี้มาจากแนวทางการดูแลสุขภาพที่เน้นการสร้างนำซ่อม และเน้นการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเป็นผู้ดูแลสุขภาพตนเอง  

นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของระบบสุขภาพไทยวันนี้ ไม่ได้อยู่ๆ จะสำเร็จขึ้นมา แต่มาจากการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสาธารณสุขที่มีตั้งแต่ รพ.จังหวัด รพ.อำเภอ และลงไปถึง รพ.ตำบล มีการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งด้านการรักษา และส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งช่วยเพิ่มการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตามระบบสุขภาพประเทศยังมีสิ่งท้าทายใหม่ที่ต้องเดินหน้า ทั้งการปะทะกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรตระกูล ส. ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่และหาทางแก้ปัญหาให้ได้ ระบบทุนนิยมในระบบสุขภาพที่ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคใหม่ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องดูความคุ้มค่าด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเรามีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ที่คอยทำในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการบริโภคเกินของประชาชนที่นำมาสู่โรคเรื้อรัง รวมถึงโรคระบาด และโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคเชื้อดื้อยา โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าปี 2593 หากไม่มีการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึงปีละ 10 ล้านคน สูงกว่าโรคมะเร็งซึ่งเสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน

นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริหารจัดการสุขภาพระดับอำเภอได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอมรับว่าระบบได้พัฒนาและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งมองว่าระบบบริหารจัดการสุขภาพระดับอำเภอนับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพของประเทศแล้ว ซึ่งเกิดจากบุคลากรในระบบสาธารณสุขในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานที่ต่างเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน นำมาสู่การหลอมรวมการทำงานสุขภาพในพื้นที่ ยังเป็นกลไกสำคัญช่วยต้านกระแสทุนนิยมในระบบสุขภาพได้ อย่างการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย เหล่านี้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีความยั่งยืนต่อไป