ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกทันตแพทยสภาเตรียมยื่นข้อเสนอต่อ รมว.แรงงาน หากไม่มีการยกเลิกเงื่อนไขเบิกจ่ายค่าทำฟัน 900 บาทเพื่อปลดภาระผู้ประกันตนไม่ให้ต้องร่วมจ่าย ชี้แบบเดิมเหมาเบ็ดเสร็จดีกว่า  

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเฝ้าติดตามความคืบหน้าจากกระทรวงแรงงานในการปรับแก้เงื่อนไขการเบิกจ่ายค่าทันตกรรมของสิทธิ์ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้เปิดกว้างเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนจริงๆ หลังจากได้ยื่นข้อเสนอไปว่า การที่ประกันสังคมขยายเพดานเบิกจ่ายค่าทันตกรรมไม่เกิน 600 บาทเป็น 900 บาทต่อปี โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกจ่ายหลายรายการ เป็นการสร้างภาระให้ผู้ประกันตนมากขึ้น 

ทั้งนี้ หากทางปลัดกระทรวงแรงงานไม่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขด้วยการยกเลิกประกาศแนบท้ายที่สร้างเงื่อนไขการเบิกจ่าย 900 บาท ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกันตนต้องทวงสิทธิ์ แต่ในส่วนของทันตแพทยสภาจะเคลื่อนไหวต่อโดยอาจส่งข้อเสนอไปถึง รมว.แรงงาน หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย

อนึ่ง นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ระบุเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ภายหลังทันตแพทยสภายื่นเรื่องให้ทบทวนประกาศแทบน้ายว่า ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้ทางคณะกรรมการแพทย์ที่มี นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการแพทย์นำไปศึกษาพิจารณาทบทวนตามข้อเรียกร้องของภาคีเครือข่ายประกันสังคม ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 9 ก.ย.นี้

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า การเพิ่มเพิ่มวงเงินค่าทันตกรรมจากเดิม 600 บาทต่อปี เป็น 900 บาทต่อปี ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.นี้ เป็นต้นมา มีเงื่อนไขกำหนดเพดานการเบิกจ่ายไว้ เช่น ถ้าขูดหินปูนเบิกได้ไม่เกิน 400 บาท มากกว่านี้ต้องร่วมจ่าย อุดฟันไม่เกิน 350 บาท ซึ่งเพดานการเบิกจ่ายนี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคลีนิกเอกชนทั่วไป ราคานี้เป็นของราชการ ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนเมื่อใช้สิทธิ์ทำฟันส่วนใหญ่จะนิยมไปที่คลินิกเอกชนเพราะสะดวกกว่า ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐจะต้องลางานไป ดังนั้น สิทธิ์ใหม่ 900 บาทเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายแน่นอน และเชื่อว่าหลายคนอาจไม่ไปใช้บริการ

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า จากประสบการณ์ มองว่า ค่าใช้จ่ายราคาขูดหินปูนแต่ละคน ไม่เท่ากันเพราะอยู่ที่ปริมาณหินปูนของคนไข้ แต่ราคาทั่วไปก็ไม่เกิน 1,000 บาท ดังนั้น 400 บาทที่ประกันสังคมกำหนดมาจึงไม่พอ ต้องร่วมจ่ายแน่นอน ยกเว้นแต่ทำที่โรงพยาบาลของรัฐ อาจไม่ต้องร่วมจ่าย แต่อย่างที่บอก ผู้ประกันตนไม่สะดวกเพราะโรงพยาบาลรัฐก็เต็มไปด้วยคนไข้ระบบ 30 บาทที่จองคิวแน่นทั้งวัน

ดังนั้น ที่ดูว่ามีสิทธิ์มากขึ้น จึงมีสิทธิ์น้อยลงกว่าปีที่แล้ว ที่ประกันสังคมให้เบิกจ่ายค่าทำฟันได้  600 บาทต่อปีแบบเหมาเบ็ดเสร็จ อย่างนี้จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน อีกทั้งยังน้อยกว่าระบบ 30 บาทของ สปสช.

นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ประกันสังคมชอบสร้างเงื่อนไขให้เบิกจ่ายยุ่งยากเพื่อทำให้คนไปใช้บริการน้อย เพราะกลัวว่า ถ้าเบิกจ่ายมากก็จะเป็นภาระกองทุน เขาอยากให้เงินในกองทุนเหลือมากๆ ซึ่งไม่ถูก อย่าลืมว่า ผู้ประกันตนส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ขณะที่บัตรทองประชาชนไม่ได้ร่วมจ่ายด้วย ระบบประกันสังคมจึงมีความลักลั่นกัน และไม่เท่าเทียมเมื่อเทียบระบบอื่น   

สำหรับ ข้อเสนอในระยะยาวเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน คือ กรณีนี้ ประกันสังคมควรใช้ระบบเดียวกับ 30 บาท คือ ไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่าทำฟันรายการต่างๆ แต่กำหนดเฉพาะโรงพยาบาลที่เข้าโครงการของประกันสังคมซึ่งมีไม่น้อย หรืออีกอย่างควรเพิ่มเพดานการเบิกจ่ายค่าทำฟันให้มากกว่านี้ เพราะเงิน 900 บาทที่ปรับเพิ่มล่าสุด ก็ไม่ได้สูง แล้วผู้ประกันตนสะดวกที่ไหน ก็ควรให้ทำที่นั่น จะทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ดีขึ้น