ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ชี้โรคปลอกประสาทอักเสบภัยใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20-40 ปีพร้อมระบุผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นมากจะสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย จนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis)หรือโรคเอ็มเอส (MS) เป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของประสาทสั่งการ ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากการนำสัญญาณของเส้นประสาทจากสมองส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เสียไป เกิดจากปลอกหุ้มเส้นประสาท ภายในระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของเอ็มเอส แม้จะมีการนำเอาทฤษฎีต่างๆมาอธิบายก็ตาม เอ็มเอสเป็นโรคของภูมิต้านตนเอง เนื่องจากร่างกายไม่อาจแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่างเซลล์ของร่างกายกับสิ่งแปลกปลอมได้ ทำให้เกิดการทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อของตนเองขึ้น รวมทั้งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ไปทำลายปลอกหุ้มประสาทและเส้นประสาทด้วย  

สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุน้อย วัยหนุ่มสาว หรือวัยทำงาน คือ ช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปี และพบว่า ผู้หญิงเป็นโรคเอ็มเอสมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคเอ็มเอสประมาณ 2,500,000 คน และพบในประเทศไทยน้อยมาก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้นิ่งนอนใจได้ โดยเฉพาะคนในวัยทำงานและเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว คือโรคอีกชนิดหนึ่งที่ต้องรู้ทัน

อาการของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะมีอาการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดโรค เช่น หากเกิดที่เส้นประสาทตา จะส่งผลต่อการมองเห็น อาจสูญเสียการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากเส้นประสาทตาอักเสบ จึงทำให้ปวดตา ตามัว ภายในเวลา 1-2 นาทีหากเกิดที่ไขสันหลัง หรือสมอง อาจมองเห็นภาพซ้อน มีอาการชาครึ่งตัว แขนขาไม่มีแรง เหน็บชา ปวด หรือปัสสาวะไม่ออก และขึ้นอยู่กับว่าเกิดกับสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมส่วนไหนของร่างกาย ถ้าเป็นสมองส่วนกลางที่ควบคุมการทรงตัว คนไข้อาจมีอาการหัวหมุน หรือวิงเวียนศีรษะได้ แต่มักมีอาการอื่นร่วมด้วย หากเป็นมากอาจสูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย จนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้ ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับรักษาอย่างถูกต้อง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอ็มเอสให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการ โดยชะลอให้อาการต่างๆ ทุเลาลง ด้วยการให้ยาเพื่อลดอาการอักเสบหรือลดความรุนแรงของโรค หรือการให้ยากดภูมิคุ้มกันบางตัว รวมทั้งกายภาพบำบัด ให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ผู้ป่วย และจิตบำบัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยเป็นแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเป็นซ้ำและลดความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยโรคเอ็มเอส จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการซ้ำ โดยการดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายอื่นๆ