ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค หารือการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ พร้อมร่วมกับผู้นำระดับประเทศทั่วโลก รับรองปฎิญญาทางการเมืองสนับสนุนการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ทางไกลจากนครนิวยอร์ค ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High –level meeting on antimicrobial resistance) ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 นับเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่มีผู้นำระดับประเทศเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก เพื่อหารือการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ และได้ให้การรับรองปฎิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (Political Declaration of the High-level Meeting of the General Assembly on Antimicrobial Resistance) นับเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงสุดในการสนับสนุนการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธานกลุ่ม 77 เป็นผู้นำคนแรกที่ได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม 77 และประเทศจีน โดยเน้นการสนับสนุนการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach) เน้นการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้และการควบคุมในการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรมสนับสนุน สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไป ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ

ทั้งนี้ ในส่วนของไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่ส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการต้านยาจุลชีพตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวด้วย